สำหรับนักจัดสวนแล้ว การจัดสวนจะเริ่มต้นไม่ได้เลยหากไม่มีน้ำในพื้นที่ เพราะทุกกระบวนการในการทำงานต้องอาศัยน้ำทั้งสิ้น โดยเฉพาะเมื่อจัดสวนเสร็จแล้ว น้ำคือ ปัจจัยหลักที่จะทำให้พืชเจริญเติบโตได้ดี ระบบน้ำ
ดังนั้นก่อนจัดสวนทุกครั้งควรตรวจสอบคุณภาพน้ำว่าเหมาะต่อใช้งานหรือไม่ ในกรณีที่ต้องสูบน้ำจากบ่อ คลองหรือแหล่งน้ำธรรมชาติมาใช้รดต้นไม้ ควรสังเกตคุณภาพน้ำด้วย และสำรวจดูว่าบริเวณนั้นมีโรงงานปล่อยสารพิษลงน้ำหรือไม่ เพราะหากคุณภาพน้ำไม่ดีแล้วนำไปรด อาจส่งผลให้ต้นไม้ที่ปลูกเกิดอาการผิดปกติได้ และหากบ้านใดที่อยู่ใกล้ทะเล แม่น้ำ ในฤดูแล้งน้ำมักกร่อย เรื่องเหล่านี้ควรต้องเรียนรู้และพิจารณาให้รอบคอบก่อนออกแบบ เพราะต้องคัดเลือกพืชที่ทนต่อสภาพน้ำกร่อยมาปลูกด้วย นอกจากนี้ นักจัดสวนควรส่งเสริมแนวทางการใช้น้ำในปริมาณจำกัดเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด และควรออกแบบ ระบบน้ำ ให้เหมาะสมหลังจัดสวนเสร็จ
โดยทั่วไปการให้น้ำในงานสวนมี 2 แบบ คือ การให้น้ำโดยใช้แรงงานคน และการให้น้ำโดยใช้ระบบสปริงเกลอร์
1 การให้น้ำโดยใช้แรงงานคน เหมาะสำหรับสวนที่มีพื้นที่ขนาดเล็ก ซึ่งเจ้าของมีกำลังและเวลาในการจัดการเรื่องรดน้ำได้ ควรติดตั้งก็อกน้ำไว้ตามจุดต่างๆ โดยกะระยะอย่าให้สายยางยาวเกิน 20 เมตร เพราะหากต้องลากสายยางยาวขนาดนั้นย่อมหนักและจัดเก็บลำบาก ควรใช้วิธีแยกก๊อกน้ำไว้หลายจุดจะดีกว่า พร้อมทั้งกำหนดตำแหน่งหลังจากมีแบบสวนแล้ว
สวนขนาด 200 ตารางวา ต้องใช้เวลารดน้ำ 1-2 ชั่วโมง หากใช้เวลาน้อยกว่านั้นแสดงว่าอาจรดน้ำไม่เพียงพอ น้ำยังไม่ซึมถึงระบบราก ซึ่งข้อเสียของการรดน้ำโดยใช้แรงงานคน คือ ต้องอาศัยการกะปริมาณน้ำที่เหมาะสมซึ่งบางครั้งอาจให้น้ำมากเกินควร ทำให้เกิดค่าใช้จ่ายสูง หรือก่อให้เกิดปัญหากับพืชตามมา ให้สังเกตอาการของพืช ที่ได้รับน้ำมากไปอาจเกิดภาวะเครียดจนเกิดจุดสีน้ำตาลบนใบ และหากได้รับน้ำเกินอย่างต่อเนื่องก็อาจตายได้
2 การให้น้ำโดยใช้ระบบสปริงเกลอร์ การให้น้ำลักษณะนี้ แบ่งเป็น 2 แบบ คือ
-ระบบมินิสปริงเกลอร์ หรือสปริงเกลอร์ขนาดเล็ก เหมาะติดตั้งในบางจุดของสวน เช่นจุดที่เข้าถึงยาก หัวจ่ายลักษณะนี้สามารถเคลื่อนย้ายได้ จะช่วยให้ใช้เวลาในการรดน้ำสั้นลง เพราะในระหว่างให้น้ำ ผู้ดูแลสวนสามารถทำงานอื่นร่วมด้วยได้ แต่ผู้ดูแลสวนต้องรู้ว่าควรรดน้ำนานเท่าใด หรือเปลี่ยนหัวสปริงเกลอร์แบบใดในการรดน้ำแต่ละพื้นที่
-ระบบสปริงเกลอร์ถาวร ต้องออกแบบสวนให้เสร็จก่อน แล้วจึงนำผังมาออกแบบระบบสปริงเกลอร์ โดยกำหนดจุดติดตั้งหัวจ่ายถาวรในตำแหน่งต่างๆ ตามลักษณะของพื้นที่ ว่าบริเวณใดเป็นสนามหญ้า มีไม้พุ่มเล็ก ไม้พุ่มสูง หรือไม้ต้น โดยกำหนดลงในผังระบบน้ำ มีระบบการควบคุมการจ่ายน้ำอัตโนมัติ แบ่งการให้น้ำเป็นโซน โดยให้ทีละโซนตามระยะเวลาที่กำหนด ระบบนี้จะมีค่าใช้จ่ายเรื่องอุปกรณ์ต่างๆ เพราะต้องวางท่อ วางระบบไฟฟ้า มีถังน้ำสำรองสำหรับการรดน้ำ แต่ข้อดีของการให้น้ำรูปแบบนี้ คือ ช่วยประหยัดทั้งแรงงาน เวลา และประหยัดน้ำได้มาก เพราะหัวจ่ายน้ำจะให้น้ำด้วยวิธีที่เหมาะสมสำหรับพื้นที่นั้นๆตามระยะเวลาที่กำหนดได้
การกำหนดระยะเวลาและจำนวนครั้งในการให้น้ำ สำหรับสวนที่ปลูกต้นไม้เสร็จใหม่ๆ โดยทั่วไปจะให้น้ำวันละ 2 ครั้ง เมื่อผ่านระยะ 1-2 เดือนแรกไปแล้ว อาจลดเหลือวันละครั้ง หรืองดบางจุดในช่วงฤดูฝน นักจัดสวนจึงต้องเรียนรู้เรื่องการคำนวณปริมาณน้ำและคำนวณเวลาให้เหมาะสมกับสภาพดินและพืชในสวน รวมถึงเหมาะกับปริมาณถังเก็บน้ำที่เตรียมไว้ ส่วนเจ้าของบ้านก็ควรเรียนรู้วิธีการปรับระบบจ่ายน้ำไว้ด้วย ซึ่งเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องใกล้ตัวสำหรับคนรักสวน ซึ่งหากรู้ไว้ย่อมไม่เสียหลาย
หากต้องการศึกษาเรื่องนี้อย่างจริงจัง อาจหาตำราเฉพาะทาง หรือเข้าอบรมเรื่องระบบการให้น้ำโดยตรง เพราะมีหลายเรื่องที่เกี่ยวข้อง ทั้งเรื่อง ดิน น้ำ พืช ท่อน้ำ อุปกรณ์ หัวจ่ายแบบต่างๆ ปั้มน้ำ และเครื่องควบคุมระบบการให้น้ำ ฯลฯที่ต้องเรียนรู้
ยังมีเรื่องราวอีกมากมายสำหรับผู้ต้องการเป็นนักจัดสวน และคนรักสวนทั่วไปควรรู้ เพื่อเข้าใจถึงขั้นตอนและรายละเอียดต่างๆในการจัดสวน สามารถหาอ่านเพิ่มเติมได้จากหนังสือ “จะเป็นนักจัดสวน” โดยรองศาสตราจารย์เอื้อมพร วีสมหมาย
ส่วนผู้สนใจศึกษาเรื่องระบบให้น้ำอัตโนมัติอย่างเจาะลึก รอติดตามได้จากหนังสือ “ระบบให้น้ำในสวน” (ผู้เขียน อ.ขวัญชัย จิตสำรวย) โดยสำนักพิมพ์บ้านและสวน เร็วๆนี้
เรียบเรียง : ทิพาพรรณ
ภาพวาดประกอบ : Paper Company และนเรศ หาญพันธ์พงษ์
ภาพถ่าย : อภิรักษ์ สุขสัย