แม้เฟินก้านดำจะดูบอบบางจนหลายคนรู้สึกว่าเป็นพืชที่ต้องดูแลเอาใจใส่มากเป็นพิเศษ แต่อันที่จริงหลายชนิดได้รับความนิยมในการนำไปตกแต่งสวน เช่น ก้านดำใบเล็ก ก้านดำมิสซิสฟรอสต์ ก้านดำใบร่ม ฯลฯ โดยอาจนำมาผสมผสานกับวัสดุตกแต่งสวนอื่น ๆ เพื่อให้ดูกลมกลืนเป็นธรรมชาติมากขึ้น
ดังเช่นการปลูกเฟินก้านดำบนหินฟองน้ำ ซึ่งแนะนำไว้ในหนังสือ เฟินก้านดำ ADIANTUM โดยคุณภัทรา แสงดานุช
หินฟองน้ำเป็นวัสดุตกแต่งสวนเฟินยอดนิยม เพราะมักจะมีมอสส์และเฟินขึ้นปกคลุมดูเป็นธรรมชาติ โดยเฉพาะเฟินก้านดำที่ขึ้นง่าย โตไว และชอบขึ้นบนหินฟองน้ำมากเป็นพิเศษ ช่วยสร้างบรรยากาศชุ่มฉ่ำร่มรื่นได้เป็นอย่างดี บางครั้งยังอาจมีพรรณไม้ดอกกระจุ๋มกระจิ๋มงอกงามขึ้นเองบนก้อนหิน ซึ่งอาจเกิดจากเมล็ดดอกไม้ป่าที่ติดมาด้วยนั่นเอง
หินฟองน้ำที่ใช้ปลูกเฟินก้านดำ
หินฟองน้ำแท้จริงก็คือหินปูนชนิดหนึ่ง ชื่อเรียกมีที่มาจากคุณสมบัติในการดูดซึมน้ำและเก็บกักความชุ่มชื้นเช่นเดียวกับฟองน้ำ หาซื้อได้ตามร้านจำหน่ายหินตกแต่งสวนบางแห่ง โดยมากมักชั่งน้ำหนักขายเป็นกิโลกรัม สมัยก่อนมีเฉพาะแบบเป็นก้อนรูปทรงตามธรรมชาติ แต่ในระยะหลังมีการดัดแปลงขุดคว้านเป็นภาชนะให้นำไปปลูกต้นไม้ได้ง่ายขึ้น
การเลือกซื้อหินฟองน้ำควรซื้อในฤดูแล้ง เพราะจะได้หินที่แห้งและมีน้ำหนักเบา แต่หน้าตาอาจไม่ค่อยน่าดูนัก เป็นก้อนสีน้ำตาลกระดำกระด่าง เนื้อหินมี 2 ลักษณะ คือ แบบเนื้อโปร่งพรุน กะเทาะง่าย ดูดซึมน้ำได้ดี และแบบเนื้อแกร่ง แข็ง ไม่ค่อยดูดซึมน้ำ เนื้อหินแบบแรกเหมาะกับสวนเฟินมากกว่า เพราะเมื่อดูดซึมน้ำจนอิ่มตัวและสภาพแวดล้อมมีความชุ่มชื้นสม่ำเสมอพอเพียง ไม่นานจะมีมอสส์และเฟินต้นเล็ก ๆ งอกขึ้นได้ง่ายกว่าหินเนื้อแกร่ง
ปลูกเฟินก้านดำบนหินฟองน้ำ
แม้ว่าหินฟองน้ำจะมีคุณสมบัติในการดูดซึมน้ำ แต่ผู้เลี้ยงบางท่านอาจเคยประสบปัญหาเมื่อนำหินทรงภาชนะมาปลูกเฟิน แต่กลับระบายน้ำไม่ดี มีน้ำขัง ทำให้ระบบรากเสียหาย ซึ่งอาจเป็นเพราะเนื้อหินแกร่งเกินไป หรือเนื้อหินอุดตันทำให้ระบายน้ำได้ช้ากว่าที่ควร วิธีแก้ปัญหาคือ ใช้ค้อน สิ่ว หรือสว่านเจาะรูที่ก้นก้อนหินก่อนนำมาใช้เพื่อช่วยให้ระบายน้ำได้ดีขึ้น นอกจากนี้ยังควรพิจารณาเรื่องวัสดุปลูก การปลูกเฟินในหินฟองน้ำอาจเพิ่มส่วนผสมที่เป็นหินภูเขาไฟให้มากขึ้น เพื่อให้ดูกลมกลืนและลดปัญหาการอุ้มน้ำ
การนำหินฟองน้ำมาตกแต่งสวนควรวางในตำแหน่งที่ได้รับแสงแดดรำไร ถ้าร่มเกินไปมอสส์และเฟินจะไม่ขึ้น หรือหากถูกแดดแรงเกินไปอาจสูญเสียความชุ่มชื้นได้ง่าย เมื่อจัดวางได้ที่แล้วก็รดน้ำให้ชุ่มทุกวัน จนกระทั่งหินดูดซึมน้ำอิ่มตัวแล้วจึงค่อยลดปริมาณน้ำลง ในฤดูแล้งที่ความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศต่ำ มอสส์ที่ขึ้นบนก้อนหินมักจะแห้งซึ่งเป็นเรื่องปกติ เมื่อฤดูฝนมาเยือนจึงเริ่มฟื้นคืนชีพกลายเป็นพรมสีเขียวแสนสวยอีกครั้ง สำหรับเฟินก้านดำที่ขึ้นบนหินฟองน้ำนั้นหากได้รับความชุ่มชื้นสม่ำเสมอจะไม่พักตัว อยู่ได้ตลอดทั้งปี เพียงแต่ในฤดูแล้งต้นอาจแคระแกร็นและเจริญเติบโตช้าลง
นอกจากปลูกเฟินก้านดำบนหินฟองน้ำแล้ว ยังสามารถปลูกได้บนวัสดุดินเผาแบบต่าง ๆ ด้วย ไม่ว่าจะเป็นโอ่ง กระถาง ไห และบนก้อนอิฐมอญเนื้อพรุน จึงได้รับความนิยมนำมาก่อเป็นกำแพงตกแต่งสวนเฟิน ซึ่งสามารถทำเองได้ไม่ยาก สามารถอ่านรายละเอียดการก่อกำแพงอิฐมอญสำหรับปลูกเฟินก้านดำตกแต่งสวนได้เพิ่มเติมในหนังสือ เฟินก้านดำ ADIANTUM ของสำนักพิมพ์บ้านและสวน
เรื่องและภาพ: ภัทรา แสงดานุช
เรียบเรียง: อังกาบดอย