แหนแดง เป็นพืชอีกชนิดหนึ่งที่คนไทยเริ่มหันมาให้ความสนใจกันอย่างแพร่หลาย ด้วยประโยชน์ด้านต่างๆ ที่เกินคาด รวมถึงทางกรมวิชาการเกษตรก็เข้ามาพัฒนาสายพันธุ์แหนแดง เพื่อให้ได้ผลผลิตที่สูงขึ้นด้วย
ดังนั้น อย่าได้พลาด เกร็ดความรู้ คำถามข้อข้องใจเกี่ยวกับ “แหนแดง” ซึ่งได้รวบรวมไว้ที่นี่ที่เดียว เพื่อให้แฟนฟาร์มเข้าใจในทุกๆ ด้านก่อนที่จะเริ่มเลี้ยงแหนแดง หรือ คนที่เลี้ยงแหนแดงบางคนก็อาจจะยังไม่รู้

แหนแดง คืออะไร ทำไมถึงมีไนโตรเจนสูง
แหนแดงเป็นเฟินน้ำชนิดหนึ่ง ภายในโพรงใบของแหนแดง จะมีสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงินอาศัยอยู่ ซึ่งสาหร่ายชนิดนี้ มีความสามารถตรึงไนโตรเจนจากอากาศได้ จึงทำให้ แหนแดงเจริญเติบโตได้ไว และ มีปริมาณไนโตรเจนสูงถึง 4 – 5% เมื่อเทียบกับ พืชตระกูลถั่ว ที่มีไนโตรเจนเพียงแค่ 2.5 – 3% ซึ่งธาตุไนโตรเจน ก็เป็นธาตุอาหารหลักที่พืชใช้สำหรับการเจริญเติบโต

แหนแดง 1 ไร่ มีไนโตรเจนเท่ากับปุ๋ยยูเรีย 7 กิโลกรัม
เพื่อให้เห็นภาพมากขึ้น ว่าแหนแดงมีปริมาณไนโตรเจนที่สูงขนาดไหน ข้อมูลจากกรมวิชาการการเกษตรระบุไว้ว่า หากปลูกแหนแดง ภายในพื้นที่ 1 ไร่ จะได้แหนแดง 3 ตัน ซึ่งมีธาตุอาหารเทียบเท่าปุ๋ยยูเรีย 7 – 10 กิโลกรัม เลยทีเดียว แหนแดง จึงนิยมนำมาขยายพันธุ์ เพื่อใช้ทำเป็นปุ๋ยในรูปของปุ๋ยพืชสด

แหนแดง สายพันธุ์ใหม่จากกรมวิชาการเกษตร ให้ผลผลิตดีกว่าเดิม 10 เท่า
ในประเทศไทยเดิมทีมีแหนแดงอยู่แล้ว เป็นสายพันธุ์พื้นเมืองชื่อ อะซอลล่า พินาต้า (Azolla pinnata) ซึ่งมีขนาดเล็ก และ ให้ผลผลิตต่ำ ทางกรมวิชาการเกษตร จึงได้มีการนำพันธุ์จากต่างประเทศมาปรับปรุง จนได้สายพันธุ์ อะซอลล่า ไมโครฟิลล่า (Azolla microphylla) ที่ให้ผลผลิตสูงกว่าพันธุ์พื้นเมืองถึง 10 เท่า
ถ้าหากสนใจแหนแดงสายพันธุ์กรมวิชาการเกษตร สามารถติดต่อผ่านศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตร ที่อยู่ใกล้เคียงได้เลย

ใช้แหนแดงเป็นส่วนผสมของอาหารสัตว์ ช่วยลดต้นทุนค่าอาหารได้
นอกจากแหนแดง จะอุดมไปด้วยไนโตรเจนที่สูงแล้ว แหนแดงยังมีโปรตีนสูงถึง 21.4 – 28.5% รวมถึงมีกรดอะมิโนที่จำเป็นต่อสัตว์ สามารถใช้เป็นอาหารสำหรับแม่ไก่ เป็ด ห่าน วัว แพะ หมู ได้ แหนแดงจึงนิยมใช้เป็นพืช สำหรับลดต้นทุนอาหารสัตว์ได้อย่างดี

แหนแดงกินได้
แหนแดง นอกจากจะเป็นอาหารสัตว์แล้ว แหนแดงสามารถนำมาประกอบเป็นอาหารได้ โดยใช้แหนแดงที่ยังไม่โตเต็มที่หรือยังมีสีเขียวอยู่มาใช้ เมนูสำหรับแหนแดง ได้แก่ ลวกจิ้มน้ำพริก ผัดใส่หมู/เนื้อ แกงเลียง แกงอ่อม เป็นต้น ทั้งนี้การรับประทานแหนแดง ควรทำให้สุกทุกครั้ง เพราะ อาจมีพยาธิ หรือ ไข่พยาธิเกาะติดมาด้วย

บ่อตื้นแค่ 30 เซนติเมตร ก็เลี้ยงแหนแดงได้
บ่อสำหรับเลี้ยงแหนแดงที่เหมาะสม อยู่ในน้ำนิ่งไม่มีลมพัดแรง ใช้ซาแรนพรางแสงเพื่อให้รับแสงแดด 40 – 50% แหนแดงจะสามารถเจริญเติบโตได้ดีในน้ำที่ไม่ลึกมากนัก เพราะ รากของแหนแดงไม่ยาว จึงทำให้มีโอกาสได้รับธาตุอาหาร และ เจริญเติบโตได้ดีกว่าในน้ำลึก ดังนั้น การทำบ่อเลี้ยงลึก 30 เซนติเมตร ก็เพียงพอแล้ว

4 ขั้นตอน ในการเลี้ยงแหนแดง
- หลังจากที่ทำบ่อเลี้ยงแหนแดงเสร็จแล้ว ให้ใส่ดิน 4 ส่วน และมูลสัตว์ 1 ส่วน ให้มีความสูงประมาณ 5 – 10 เซนติเมตร
- เติมน้ำให้มีความสูงจากผิวดินประมาณ 5 – 10 เซนติเมตร จากนั้นปล่อยทิ้งไว้ให้ตกตะกอนประมาณ 1 คืน แล้วตักเศษที่ลอยบนผิวน้ำออก
- ใส่แหนแดงสดลงในบ่อประมาณ ให้แหนแดงกระจาย 50% ของพื้นที่บ่อและเติมปุ๋ยคอกเพิ่มลงในบ่อทุก ๆ 14 วัน เพื่อเป็นธาตุอาหารสำหรับแหนแดง หากใส่ปุ๋ยคอกในปริมาณมากจะทำให้น้ำเค็ม แล้วแหนแดงจะเหี่ยว แต่หากไม่เพียงพอจะเปลี่ยนเป็นสีแดงหรือสีเหลือง
- ใช้ระยะเวลาเพียง 1 – 2 สัปดาห์ ก็สามารถเก็บเกี่ยวแหนแดงได้แล้ว

ทำแหนแดงแห้ง
เหมาะสำหรับกรณีที่มีแหนแดงจำนวนมาก ให้นำแหนแดงตักขึ้นมาเกลี่ย และ ผึ่งแดงไว้ประมาณ 2 วัน เมื่อสัมผัสว่าแหนแดงแห้งดีแล้วจึงเก็บใส่กระสอบ อายุการเก็บรักษาประมาณ 1 ปี
แหนแดงแห้งสามารถใช้เป็นปุ๋ยไนโตรเจน เพื่อใช้สำหรับปลูกพืชผักออร์แกนิกได้ โดยนำแหนแดงแห้ง 1 กิโลกรัม ผสมกับ วัสดุปลูก 50 กิโลกรัม จากนั้นก็สามารถนำไปใช้ได้เลย

แหนแดงไม่ควรเลี้ยงในบ่อสัตว์น้ำ
หากนำแหนแดงไปปล่อยในบ่อเลี้ยงสัตว์น้ำ แล้วสัตว์น้ำในบ่อกินแหนแดงไม่ทัน จะทำให้บ่อน้ำถูกปกคลุมไปด้วยแหนแดง เนื่องจาก พืชที่อยู่ใต้ท้องน้ำ ไม่สามารถสังเคราะห์แสงได้ ส่งผลให้ออกซิเจนภายในน้ำลดลง
ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้สัตว์น้ำ จำพวกปลาตายได้ง่าย ในทางตรงกันข้ามถ้าสัตว์น้ำที่อยู่ในบ่อกินแหนแดงจนหมด ก็จะทำให้ไม่มีแหนแดงไว้ขยายต่อ ทางที่ดีควรเลี้ยงแหนแดงแยกกับบ่อสัตว์น้ำจะดีกว่า

โรคและศัตรูพืชของแหนแดง
หนอนผีเสื้อ แมลงปากกัด แมลงปากดูด เหล่านี้เป็นศัตรูตัวสำคัญของแหนแดง ซึ่งจะเข้าทำลายโดยการกัดกิน และ ดูดน้ำเลี้ยงจากใบ
วิธีการจัดการ สามารถทำมุ้งครอบเพื่อป้องกันหนอนและแมลงเข้าไปวางไข่ และ ไม่ควรปล่อยให้แหนแดงหนาแน่นจนเกินไป เพราะอาจทำให้แหนแดงที่อยู่ด้านล่างไม่ได้รับแสง ส่งผลให้ เกิดการเน่าและเป็นที่หลบซ่อนของหนอน และ แมลงได้
บทความที่เกี่ยวข้อง
ขั้นตอนทำบ่อปลูกแหนแดง พืชน้ำดูแลง่าย ไนโตรเจนสูง
Tammada Garden ฟาร์มออร์แกนิก ที่ส่งสินค้าเกษตรในรูปแบบ “ผูกปิ่นโต”