ครั้งแรกที่ได้เห็นคลิปของคุณนิ่ม รริริญ คงกุทอง หญิงสาวร่างเล็กที่ลงมือทำ ปลูกผักบนระเบียง ทำโต๊ะปลูกผักเอง เลื่อยไม้เอง ทำดินเอง ก็ฉุดคิดไปว่าบรรยากาศแบบนี้ไม่น่าจะเป็นเมืองไทย จนได้พูดคุยกับเธอ ถึงได้รู้ว่าแท้จริงแล้วสวนผักปลอดสารเคมีแห่งนี้อยู่ที่ประเทศไต้หวัน
คุณนิ่ม ครูสอนภาษาไทยในโรงเรียนไต้หวัน เล่าให้เราฟังอย่างสนุกและส่งต่อแรงบันดาลใจในการทำ ปลูกผักบนระเบียง ในต่างประเทศ ที่นอกจากจะปลูกเพื่อให้ได้ทานอาหารที่ปลอดภัยแล้ว ยังเป็นอีกหนึ่งวิธีที่จะช่วยให้เธอได้ทานผักไทยที่คุ้นเคยโดยไม่ต้องจ่ายในราคาที่สูง เพราะผักปลอดสารเคมีที่นั่นมีราคาสูงมาก
“ตอนแรกก็เริ่มจากปลูกไม้ประดับก่อนค่ะ ตอนสร้างบ้านใหม่ก็ตั้งใจไว้ว่าจะต้องมีสวนที่ระเบียงห้องนอน เราก็หาซื้ออุปกรณ์ต้นไม้ตามร้านค้าเกษตรของที่นี่ค่ะ แต่ปัญหาคือช่วงหน้าร้อนไม้ประดับสู้แดดไม่ได้ เลยหันมาลองปลูกผัก แล้วมาเจอโควิด-19 เริ่มระบาดรุนแรง จึงมาจริงศึกษาเรื่องดินมากขึ้น”
แม้จุดเริ่มต้นจะเน้นปลูกผักไทยเป็นหลัก แต่ผ่านมาสักระยะ เธอได้เรียนรู้ที่จะปลูกผักหลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะผักในเมนูสลัด ผักกินใบ รวมทั้งผักกินผลบางชนิดด้วย
“ตอนแรกที่เริ่มสนใจปลูกคือพวกผักไทยที่คุ้นเคยค่ะ อย่างมะกรูด กะเพรา เพราะว่าที่นี่มันราคาแพง เลยคิดว่าปลูกกินเองแทนก็ได้ แล้วก็เริ่มหาดูวิธีปลูกวิธีดูแลจากอินเตอร์เน็ต หลังจากนั้นก็หาเมล็ดตามฤดูมาเพาะเอง ลองทำปุ๋ยเอง ทำโต๊ะปลูกเอง”
แปลงปลูก โต๊ะปลูก ประกอบเองเพื่อ ปลูกผักบนระเบียง
กระบะไม้ทรงลึก หน้าแคบ สำหรับปลูกผักกินใบแค่แถวเดียว เป็นไอเดียการทำแปลงที่แปลกใหม่แต่ล้วนมาจากฟังก์ชันที่ช่วยให้จัดการพืชผักได้ง่าย
“วัสดุที่นำมาทำโต๊ะปลูกอย่างไม้ ก็ไปซื้อมาจากร้านขายไม้ค่ะ เป็นของมือสอง แล้วก็ไปตามหาอุปกรณ์ช่างต่างๆ พวกสว่านแบตเตอร์รี่ สายวัด เลื่อย แล้วมาลองลงมือทำเอง ดูแบบจากอินเตอร์เน็ต ค่อยๆ ทำไป”
“นิ่มจะดูว่ากระบะมันเหมาะกับผักชนิดไหนค่ะ อย่างมะเขือเทศจะเหมาะกับกระบะทรงลึกแบบนี้เพราะรากจะชอนไชลงไปลึกค่ะ แต่ถ้าทรงตื้นจะเหมาะกับพวกผักสลัด ส่วนการวางกระบะจะยึดตามพื้นที่การออกแบบของระเบียงค่ะ เน้นมองดูแล้วรู้สึกว่าเป็นระเบียบสบายตา”
ปุ๋ยโบกาฉิ สะดวกที่สุด
การทดลองใหม่ๆ เริ่มขึ้นเมื่อเริ่มเข้าใจว่าหัวใจสำคัญของการปลูกผักคือดินปลูกและปุ๋ยหมัก
“นิ่มมารู้จักปุ๋ยโบกาฉิครึ่งปีแล้วค่ะ เมื่อก่อนใช้ดินปลูกธรรมดาที่หาซื้อได้จากร้านค้าเกษตร แต่ผักที่ปลูกมันหยุดโตเพราะสารอาหารไม่เพียงพอ เลยหาปุ๋ยคอกมาผสมแล้วผลผลิตก็ออกมาดี ใช้สลับกับพวกปุ๋ยมูลไส้เดือนอยู่พักนึงค่ะ”
“จนพอเราเริ่มศึกษาไปลึกๆ ไปเจอเขาสอนทำปุ๋ยโบกาฉิตัวนี้ เราเริ่มจากหารำข้าวกับ EM มาทำตาม ที่นี่จะมีถังหมักก็มีจำหน่ายในห้างหาซื้อง่าย ตอนนั้นใช้กับสวิสชาร์ด ปรากฏว่ามันโตมันงามกว่าที่เคยปลูกมา แล้ววัตถุดิบที่ใช้อย่างเศษอาหารพวกเปลือกผลไม้ เศษผัก ก็มาจากในครัวเหลือทิ้ง รำข้าว กับ EM ราคาก็ไม่แพงด้วย”
ขั้นตอนการทำปุ๋ยโบกาฉิแบบคุณนิ่ม
1 หั่นเศษอาหารให้เป็นชิ้นเล็กๆ ใส่ในถังหมัก
2 โรยรำข้าวแล้วพรมด้วย EM พรมน้ำเล็กน้อย ปิดฝาถังทิ้งไว้ 14 วัน
3 จากนั้นนำไปรองก้นกระบะปลูกหรือฝังดิน กลบด้วยดินปลูกซึ่งเป็นดินถุงที่หาได้ง่ายก่อนปลูกผัก
พืชผักที่ปลูกยังคงทดลองไปเรื่อยๆ
ภาพพืชผักใบเขียวที่เติบโตในกระบะปลูกทั้ง เคล สวิสชาร์ด กรีนโอ๊ก เรดโอ๊ก มะกรูด ข้าวโพด แตงกวา มะนาว เรดคอส โหระพา กวางตุ้งดอกไม้ไฟ ที่กำลังฮิตในช่วงนี้ ความหลากหลายที่เห็นเกิดจากการทดลองใหม่ๆ
“ตอนนี้นิ่มก็ยังทดลองอะไรไปเรื่อย เวลาปลูกผักก็จะเน้นตามฤดูกาลกับชนิดผักที่เราปลูก อากาศที่ไต้หวันจะคล้ายๆ กับเมืองไทยอยู่บ้าง แต่พื้นที่ที่เป็นเกาะจึงเดี๋ยวร้อนเดี๋ยวชื้น ผลผลิตที่ได้ก็จะแปรเปลี่ยนตามฤดูกาลด้วยค่ะ อย่างเคยปลูกกะเพราที่นี่ จะมีกลิ่นแรง หอมเหมือนปลูกที่ไทยก็ช่วงฤดูร้อน ถ้าปลูกช่วงมิถุนายน-ตุลาคม จะให้ผลผลิตดีเก็บได้เรื่อยๆ แต่ถ้าช่วงต้นเดือนมกราที่อากาศหนาวมาก ๆ จะตายได้ค่ะ”
การปลูกที่ให้มากกว่าอาหาร
นอกจากผักที่ปลอดสารเคมีที่ได้เก็บรับประทานในทุกๆ วันแล้ว พื้นที่ขนาดเล็กแห่งนี้ยังเป็นจุดเชื่อมความสัมพันธ์ในครอบครัวเธออีกมุมด้วย
“ตอนนี้ลูกชาย 6 ขวบแล้ว เขาก็จะชอบรดน้ำผักมากๆ ค่ะ ก่อนนอนจะขอออกไปรดน้ำผักที่ระเบียงก่อนเสมอ ถ้ามีเวลาเราก็จะจัดมุมเป็นโรงหนังนั่งดูนั่งที่ฉายผ่านเครื่องโปรเจคเตอร์กับสามีค่ะ โต๊ะปลูกที่ทำเองจึงออกแบบให้เป็นที่นั่งได้ด้วย เพื่อให้ที่ตรงนี้ใช้งานได้หลากหลายมากขึ้น”
สูตรดินที่ใช้ปลูกผัก คุณนิ่มเลือกใช้ดินถุง1 ส่วน ซึ่งหาซื้อได้ง่าย ผสมกับมูลไส้เดือน 1 ส่วน ปุ๋ยคอก 1/4 ส่วน รองก้นกระบะด้วยกากปุ๋ยโบกาชิ ในช่วงเวลาทดลองใช้ปุ๋ยโบกาฉิที่ทำเอง ลองผลิกดินดูหลังจากใช้ไป 3 เดือน เพื่อดูพวกเศษผักเศษผลไม้ที่ใช้ทำโบกาฉิ ซึ่งมันย่อยและร่วนไปกับดิน จึงเลือกใช้ปุ๋ยโบกาฉิเป็นหลัก
ยาบำบัดที่ได้มาจากการ ปลูกผักบนระเบียง
นอกจากพื้นที่กิจกรรมของสมาชิกในบ้านแล้ว การปลูกผักปลอดสารเคมีของคุณนิ่มยังเป็นเสมือนยาบำบัดความเครียดจากการทำงานที่เธอพบเจออยู่เสมอ
“เวลาที่เราทำงานตรงนี้จะเกิดความเครียดค่ะ เพราะเราสอนภาษาไทยโดยใช้ภาษาจีนสอน ต้องทำความเข้าใจเยอะ พอปลูกผักก็รู้สึกเลยว่าเอาความเครียดออกมาไว้ตรงการปลูกนี้ แล้วมันเป็นความชอบส่วนหนึ่ง ทำให้เราใจเย็นลง รู้จักการรอคอย นิ่มภูมิใจเวลาได้กินผักที่ตัวเองปลูกด้วยค่ะ”
แม้ผักจากสวนบนระเบียงจะยังอยู่ในปริมาณรับประทานเองในครอบครัว แต่แน่นอนว่าช่วยลดค่าใช้จ่ายในการซื้อผักที่ปลอดภัยได้มากพอสมควร เพียงเท่านี้ก็ทดแทนใจให้เธอมีแรงสร้างสรรค์คลิปการปลูก ขั้นตอนการทำสิ่งต่างๆ ผ่านช่องทางยูทูป เป็นอีกหนึ่งพลังที่สื่อให้เห็นว่า การปลูกผัก เป็นอีกหนึ่งไลฟ์สไตล์ที่เป็นภาษาสากล และทุกคนสามารถทำได้
เรื่อง JOMM YB
ภาพ คุณรริริญ คงกุทอง