เลี้ยง “ชันโรง” ผึ้งจิ๋วผลิตน้ำผึ้งและผสมเกสร เพิ่มผลผลิตทั้งไม้ผลและผัก

นอกจากผึ้งที่สามารถผลิตน้ำผึ้งได้แล้ว ยังมีแมลงอีกหนึ่งชนิดที่สามารถผลิตน้ำผึ้งได้แบบไม่ต่อย (แต่กัด) นั่นคือ ชันโรง หรือผึ้งจิ๋ว ที่มีวงจรชีวิต มีวรรณะชนชั้น ไม่ต่างจากผึ้ง และสามารถเลี้ยงเพาะพันธุ์เพื่อจำหน่ายเป็นอาชีพได้ด้วย

บทบาทหน้าที่ของ ชันโรง คือช่วยผสมเกสรในสวนผลไม้ พืชผัก ซึ่งเกิดขึ้นตามธรรมชาติ เมื่อชาวสวนชาวไร่สังเกตเห็นความสำคัญจึงมีการเปลี่ยนย้ายรังมาไว้ในสวน โดยพาะสวนผลไม้เพื่อช่วยเพิ่มผลผลิต และเกิดเป็นธุรกิจเพาะพันธุ์ขายมานานกว่า 10 ปี

เพาะชันโรงขายอย่างไรให้เป็นอาชีพ? คุณกัน-อานนท์ ชูโชติ หนุ่มราชบุรีที่ใครๆ ก็คิดว่าบ้าเพราะนั่งเฝ้าดูแต่ชันโรง เฝ้าสังเกตเรียนรู้พฤติกรรมจนเกิดความเข้าใจและต่อยอดเป็นอาชีพเสริม เพาะพันธุ์ชันโรงจำหน่าย ยาวนานมาถึง 7 ปี สร้างรายได้เสริมหลักหมื่นต่อเดือน และเขาจะมาบอกเล่าเรื่องราวของชันโรง สิ่งที่ต้องรู้ก่อนเลี้ยง และการต่อยอดสร้างรายได้ของเขา ให้เราฟัง

ชันโรง

โลกของ “ชันโรง”                                                 

“ชันโรง (Stingless Bee)” เป็นผึ้งชนิดหนึ่งที่ไม่มีเหล็กใน หากถูกก่อกวนก็จะแค่ตอมให้รู้สึกรำคาญหรือก็แค่กัด แต่ไม่ต่อยและไม่มีพิษให้เจ็บปวดเหมือนผึ้ง เป็นแมลงที่ช่วยผสมเกสรในสวนผลไม้ พืชผักตามธรรมชาติ ซึ่งในประเทศไทยพบว่ามีอยู่ทั่วทุกภาคมากกว่า 30 ชนิด บางชนิดก็เป็นพันธุ์เฉพาะถิ่น บางชนิดอยู่ได้ทุกที่ทั่วทุกภาค

ชันโรงเป็นแมลงสังคมคืออยู่รวมกันเป็นกลุ่มใหญ่ มีการแบ่งกลุ่มที่เรียกกันว่า “วรรณะ” ซึ่งมีหน้าที่ความรับผิดชอบต่างกันไป แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ

1 I นางพญา เปรียบเสมือนหัวหน้าครอบครัว ตัวจะใหญ่กว่าตัวอื่น มีหน้าที่วางไข่ในถ้วยตัวอ่อนที่ชันโรงงานสร้างไว้ให้ และควบคุมการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ภายในรัง นางพญาจะมีอายุอยู่ได้ 3-4 ปี หรืออาจจะนานกว่านั้น

ที่น่าสนใจคือใน 1 รังจะมีนางพญาได้เพียงแค่ 1 เดียวเท่านั้น ปกติไข่นางพญาถูกจะถูกสร้างขึ้นมาใหม่ตลอดเวลา ชันโรงงานจะสร้างถ้วยไข่ที่มีขนาดใหญ่กว่าปกติ ตัวอ่อนที่อยู่ในถ้วยนั้นจะได้กินอาหารมากกว่าตัวอื่น จนเติบโตเป็นนางพญาตัวใหม่ต่อไป หากเกิดกรณีนี้ก็ต้องต่อสู้กันและถูกสมาชิกในรังคัดเลือกให้เหลือเพียงแค่ตัวเดียว ซึ่งโดยปกตินางพญาตัวเก่ามักจะได้ยึดครองรัง แต่ถ้าแก่มากๆ เริ่มวางไข่ได้น้อยลง ก็จะโดนรุมฆ่าทิ้งแล้วเลือกตัวใหม่ขึ้นมาแทน

2 I ชันโรงงาน เป็นกลุ่มของชันโรงที่มีมากที่สุดในรังและส่วนใหญ่มักเป็นตัวเมีย ทำหน้าที่ตั้งแต่ทำความสะอาดและซ่อมแซมรัง สร้างถ้วยตัวอ่อนไว้ให้นางพญาวางไข่ สร้างถ้วยอาหารไว้เก็บน้ำผึ้งและเกสรดอกไม้ ให้อาหารและคอยเป็นพี่เลี้ยงช่วงนางพญาวางไข่ ป้องกันรัง และออกหาอาหาร ชันโรงงานจะมีอายุอยู่ได้ถึง 60-90 วัน

3 I ชันโรงตัวผู้ เป็นกลุ่มที่น่าสงสารที่สุด เพราะหลังจากโตเต็มวัยแล้วต้องบินออกไปนอกรังเพื่อทำหน้าที่รอผสมพันธุ์กับนางพญา และจะไม่สามารถกลับเข้ารังเดิมได้ ชันโรงตัวผู้จะมีอายุอยู่ได้แค่ 20 วัน

วงจรชีวิตของชันโรง                    

ไข่จะใช้เวลา 30-45 วันในการฟักเป็นตัวอ่อน โดยมีชันโรงงานตัวเต็มวัยที่ยังมีอายุน้อยช่วยกัดถ้วยให้ตัวอ่อนออกมาได้ง่ายขึ้น เมื่อเติบโตแข็งแรงหน้าที่ความรับผิดชอบภายในรังก็จะเปลี่ยนไปตามอายุที่มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นหน้าที่ ทำความสะอาด สร้างถ้วยตัวอ่อน หรือป้อนอาหารนางพญา

ชันโรงงานที่มีอายุน้อยที่อาศัยอยู่ในรังคอยทำหน้าที่เติมอาหารในถ้วยตัวอ่อน ส่วนการออกนอกรังเพื่อหาอาหารเป็นหน้าที่ของชันโรงงานที่มีอายุมาก บินออกไปตอนเช้าเก็บเกสรเก็บน้ำหวาน ช่วงเย็นก่อนมืดก็บินกลับเข้ารัง แต่ก็ยังทำงานอื่นอยู่ทั้งคืนไม่ได้นอน

ส่วนนางพญานั้น หลังฟักจนเป็นตัวโตเต็มวัยแล้ว ไม่เกิน 7 วันก็จะบินออกมาผสมพันธุ์กับตัวผู้ที่รออยู่หน้ารังด้านนอก ผสมพันธุ์เพียงแค่ครั้งเดียวก็สามารถวางไข่ได้ตลอดชีวิต

ชันโรง

ในรังมีอะไร?

ชันโรงสามารถสร้างรังได้ทุกที่ที่มีรู ไม่ว่าจะเป็นในขวด ในท่อ ในซอกปูน ในโพรงลำต้นไม้ใหญ่ ในดินจอมปลวกหรือแม้แต่รอยแยกของบ้าน ตามซอกตึกซอกปูน ในกล่องในลังต่างๆ ขอแค่เป็นสถานที่ที่มืดทึบ และมีแหล่งอาหารอยู่ใกล้ในระยะ 300 เมตร

โครงสร้างภายในรังของชันโรงจะประกอบไปด้วยปากทางเข้ารังที่มีหลายลักษณะ เช่น เป็นปล่อง เป็นรูปปากแตร หรือมีรูเล็กๆ ทางเข้ามักซับซ้อนเหมือนเขาวงกตเพื่อให้ศัตรูเข้ามาได้ยาก และมียางเหนียวๆ อยู่บริเวณปากทางเข้าออกรัง

ภายในรังมีการสร้างห้องหรือที่จะขอเรียกให้เข้าใจง่ายๆ ว่า “ถ้วย” ซึ่งจะสร้างจากยางไม้ มีรูปร่างลักษณะและขนาดต่างกันไปแบ่งตามการใช้งาน ไม่ว่าจะเป็นถ้วยสำหรับวางไข่และเลี้ยงตัวอ่อน ถ้วยเก็บน้ำหวาน ถ้วยเก็บเกสรไว้สำหรับใช้เป็นอาหารของตัวอ่อนและนางพญา และตุนไว้ใช้ในช่วงฤดูฝนที่ไม่ได้ออกไปหากิน ถ้วยประเภทต่างๆ จะอยู่รวมกันเป็นกลุ่มแต่อาจมีอยู่หลายกลุ่มกระจายอยู่ทั่วทั้งรัง

ชันโรง

“ย้อนหลังไปเมื่อ 7 ปีที่แล้ว ผมเห็นชันโรงมีอยู่ทั่วไปทั้งที่บ้านและในสวนผลไม้ของพ่อที่ข้างบ้านครับ พอเห็นบ่อยๆ เข้าก็เกิดความสงสัย เลยเริ่มศึกษาหาข้อมูลว่าคืออะไร เฝ้าสังเกตพฤติกรรมอยู่พักใหญ่จนเข้าใจเขาว่ามีชีวิตอยู่ยังไง ทำอะไรกันบ้าง เริ่มลองเลี้ยงจริงจัง” คุณกันเล่าถึงที่มาการเพาะพันธุ์ชันโรงขายสร้างรายได้เสริมให้ฟัง

“จริงๆ แล้วในบ้านเราเลี้ยงชันโรงกันมาเป็น 10 ปีแล้วนะครับ แต่ไม่ค่อยมีใครยอมบอกข้อมูลหรือให้ความรู้ ผมเริ่มจากหารังชันโรงจากธรรมชาติมาลองเลี้ยงก่อน ลองซื้อสายพันธุ์ตัวใหญ่มาเลี้ยงแต่ก็ไม่ค่อยได้ผล เนื่องจากเป็นพันธุ์เฉพาะถิ่นทางภาคใต้ พอมาอยู่แถวบ้านที่ราชบุรีก็จะตาย ลองหาพันธุ์ใหม่มาเลี้ยง จนมาจบที่พันธุ์ขนเงิน ซึ่งเป็นชันโรงบ้านที่สามารถเลี้ยงได้ทุกพื้นที่ทุกจังหวัด ตัวมีขนาดเล็ก สามารถเข้าไปผสมเกสรในดอกไม้ที่มีขนาดเล็กๆ ได้ดี และหากินเก่งครับ ผมเลี้ยงดูเล่นมาเรื่อยๆ จนมีจำนวนเยอะขึ้น และเริ่มขายมาได้ 5 ปีแล้วครับ”

ราคาขายกล่องชันโรงมีตั้งแต่ 500-1,500 บาท ขึ้นอยู่กับความสมบูรณ์ของรัง ปริมาณไข่แก่ ชันโรงงาน และอายุรัง ฤดูร้อนจะเป็นช่วงที่ขายดีที่สุด โดยเฉลี่ยคุณกันขายได้ประมาณเดือนละ 20 กล่อง สร้างรายได้เสริมหลักหมื่นต่อเดือน เป็นตัวเลขที่น่าสนใจทีเดียวนะครับ

นอกจากการเพาะพันธุ์ชันโรงเพื่อขายยกกล่องแล้ว เรายังสามารถสร้างรายได้อีกหลายทางด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นเลี้ยงเพื่อขายน้ำผึ้ง ซึ่งน้ำผึ้งชันโรงมีคุณค่าทางอาหารสูงกว่าน้ำผึ้ง ผลิตได้ในปริมาณที่น้อยจึงมีราคาค่อนข้างสูง เลี้ยงเพื่อขายไข่นางพญา ซึ่งมีราคาตั้งแต่ 100-400 บาทต่อฟอง แม้กระทั่งชันยางไม้ก็สามารถขายได้ รวมไปถึงบริการให้เช่ากล่องชันโรงไปวางในสวนผลไม้ ซึ่งปัจจุบันคิดราคาค่าเช่าอยู่ทีวันละ 30-50 บาทต่อกล่องต่อวัน

วิธีแยกรังเพิ่มจำนวนเพื่อแบ่งขาย

“ตามธรรมชาติแล้วถ้ารังแน่น ชันโรงก็จะแยกรังเองโดยไปสร้างรังใหม่ครับ ส่วนการเลี้ยงในกล่องผมจะดูว่าถ้าในกล่องมีไข่แก่และชันโรงงานเยอะก็สามารถแยกรังได้เลยครับ การแยกรังควรทำในช่วงฤดูร้อน และทำในช่วงเช้าที่ชันโรงยังไม่ดุนักครับ” คุณกันอธิบายวิธีการแยกรังพร้อมลงมือทำให้เราดู

สิ่งที่ต้องเตรียมคือกล่องไม้ขนาด A4 (21 x 30 x 10 เซนติเมตร) ซึ่งคุณกันบอกว่าเป็นขนาดที่เหมาะสมกับการเจริญเติบโตและดูแลได้ง่าย มีดที่คมและสะอาด และไฟแช็กสำหรับลนมีดไม่ให้ยางติด

แบ่งถ้วยไข่แก่ ถ้วยน้ำหวาน ถ้วยเกสร ประมาณ 50% จากรังเดิม นำไปวางไว้ด้านในสุดของกล่องใหม่ ที่ลืมไม่ได้คือถ้วยไข่นางพญาเอาไปวางไว้ใกล้กลุ่มถ้วยไข่แก่ ป้ายขี้ชันจากรังเดิมที่ทางเข้าของรังใหม่เพื่อล่อให้ชันโรงงานที่ออกไปหาอาหารกลับเข้ามาที่รังใหม่                                                                                

ปิดทางเข้ารังเดิมและย้ายไปไว้ที่อื่นให้ห่างจากกล่องใหม่ เพื่อให้ลืมรังเดิมและย้ายไปอยู่ในกล่องใหม่แทน หลังจากแยกรังแล้วอาจจะต้องเลี้ยงต่ออีกสักพัก ประมาณ 1-2 เดือน หรือจนกว่านางพญาจะโตเป็นตัวเต็มวัยและพร้อมวางไข่ กล่องใหม่นี้ก็จะสามารถส่งขายได้แล้วครับ

ช่วยผสมเกสรเพิ่มผลผลิตในสวนผลไม้

จากที่พูดไว้ตั้งแต่แรกแล้วว่า ชันโรงเป็นแมลงที่ช่วยผสมเกสรในสวนผลไม้ พืชผักตามธรรมชาติมาแต่ไหนแต่ไร และงานวิจัยยังระบุว่าชันโรงมีรัศมีการบินเพื่อหากินประมาณ 300 เมตร ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการเกษตรเพราะสามารถควบคุมชันโรงให้ลงตอมดอกไม้และพืชผักเป้าหมายได้ และที่สำคัญคือชันโรงจะเก็บเกสรมากกว่าน้ำหวานเป็นสัดส่วน 80:20 ซึ่งสอดคล้องกับกระบวนการผสมเกสรของดอกไม้เมืองร้อน ซึ่งต้องการพฤติกรรมของแมลงผสมเกสรที่ลงตอมดอกไม้เพื่อเก็บเกสรก่อให้เกิดการผสมเกสรที่สมบูรณ์ การนำกล่องชันโรงไปตั้งในสวนผลไม้จึงช่วยให้ติดผลดีขึ้น มีผลผลิตเพิ่มขึ้นถึง 2-3 เท่า ซึ่งคุณกันพิสูจน์แล้วจากสวนลิ้นจี่ของคุณพ่อที่ข้างบ้าน

“กล่องชันโรงสามารถนำไปตั้งในสวนผลไม้ได้ทุกชนิดนะครับ สวนผลไม้ใช้สัก 10-12 กล่องต่อไร่ ถ้าเป็นสวนมะพร้าวใช้ 5-6 กล่องต่อไร่ บริเวณที่นำไปตั้งควรอยู่ในที่ร่มไม่โดนแดด ถ้าโดนแดดหรือความร้อนมากๆ นานๆ ถ้วยน้ำหวานอาจจะแตกหรือละลาย และควรยกให้สูงจากพื้นดิน 40-80 เซนติเมตร เพื่อกันไม่ให้ฝนกระเด็นขึ้นมาโดนหรือกล่องแช่น้ำ และป้องกันไม่ให้สัตว์อื่นมารบกวน โดยเฉพาะพวกกิ้งก่า จิ้งจก”

ชันโรง

สิ่งสำคัญที่ต้องระวังที่สุดคือเรื่องของความร้อน เพราะจะทำให้ถ้วยน้ำหวานละลาย ตัวอ่อนขาดอาหารและตายได้ ยาฆ่าแมลงก็ต้องคอยระวังเพราะชันโรงเซนซิทีฟกับยาฆ่าแมลง อีกเรื่องที่สำคัญคืออย่าย้ายกล่องเลี้ยงชันโรง ตั้งไว้ตรงไหนต้องไว้ที่เดิม เพราะชันโรงเป็นสัตว์ที่จำที่อยู่ ถ้าย้ายที่มันจะกลับรังไม่ได้

ชันโรง

นอกจากนำไปตั้งในสวนผลไม้แล้ว ยังสามารถนำไปตั้งในโรงเรือนหรือสวนผักได้เช่นกัน พืชผักที่มีดอก ชันโรงสามารถช่วยผสมเกสรได้ทั้งหมด อาจเอาไปตั้งไว้เฉพาะช่วงที่พืชออกดอก หลังจากนั้นค่อยย้ายออกจากโรงเรียนไปตั้งไว้ข้างนอก

ถ้าในบริเวณที่เลี้ยงไม่ค่อยมีดอกไม้อาจปลูกไม้ดอกช่วย โดยเลือกปลูกไม้ดอกที่ออกดอกตลอดทั้งปี และควรเป็นดอกไม้ที่มีกลีบดอกชั้นเดียว พวกกลีบดอกซ้อนส่วนใหญ่ชันโรงจะแทรกเข้าไปเอาน้ำหวานไม่ได้

ชันโรงยังมีข้อดีกว่าผึ้งอีกหลายอย่าง เช่น ไม่ทิ้งรังเหมือนผึ้ง สามารถเลี้ยงอยู่ในกล่องเดิมได้นานหลายปี และไม่เลือกตอมเฉพาะดอกไม้ที่ชอบ ชันโรงลงตอมดอกไม้ทุกชนิดถึงแม้ดอกไม้ชนิดนั้นเคยมีการลงตอมของแมลงผสมเกสรตัวอื่นมาแล้วก็ตาม

ชันโรง

“เมื่อก่อนมีแต่คนมองว่าผมบ้าที่เลี้ยงชันโรง การเลี้ยงชันโรงมีต้นทุนไม่มาก มีแค่ค่ากล่อง ค่าแม่พันธุ์ อาหารก็ไม่ต้องซื้อ ไม่ต้องให้ ไม่มีเวลาก็สามารถเลี้ยงได้ ไม่อยู่บ้านก็เลี้ยงได้ ปล่อยทิ้งไว้ได้เลยครับ เขาหากินกันเอง คนที่อยากเลี้ยงก็อยากให้ทดลองดูครับ เริ่มจากกล่องสองกล่อง ลองเลี้ยงดูก่อน มีอะไรสงสัยหรืออยากได้ข้อมูลอะไร ติดต่อผมมาได้ที่โทร. 065-395-6799 หรือที่เพจ ‘ชันโรงบ้านเพลง’ ก็ได้ครับ”

เรื่อง : วชิรพงศ์ หวลบุตตา

ภาพ : ฤทธิรงค์ จันทองสุข