ฝนทิ้งช่วงนานๆ ปลูก พืชทนแล้ง ชนิดไหนดี ? ในช่วงที่ฝนทิ้งช่วงยาว ๆ หลายพื้นที่อาจจะประสบกับปัญหามีน้ำไม่เพียงพอในการรดน้ำพืชต่าง ๆ หรือ บ้านที่เจ้าของบ้านไม่มีเวลารดน้ำต้นไม้บ่อย ๆ การเลือกปลูกพืชที่สามารถทนแล้งได้ดีก็เป็นอีกแนวทางหนึ่งที่ช่วยแก้ปัญหาเหล่านี้ได้
ลักษณะของ พืชทนแล้ง มีอะไรบ้าง ? อธิบายได้ว่า มีทั้งพืชในกลุ่มพืชไร่ที่ใช้น้ำน้อยอยู่แล้ว พืชผักอายุสั้นบางชนิดที่ทนต่อสภาพขาดน้ำได้ดี ไม้ยืนต้นที่สามารถปลูกในพื้นที่แห้งแล้งได้ รวมทั้งไม้ผลที่ให้ผลผลิตตามฤดูกาลก็สามารถปลูกได้เช่นกัน นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มพืชผักที่ปรับปรุงพันธุ์มา เพื่อให้ทนแล้งโดยเฉพาะ สำหรับพืชทนแล้งที่ปลูกได้ง่าย ๆในสวนหลังบ้าน หรือ จะปลูกเพื่อการเกษตรแบ่งออกเป็นประเภทง่าย ๆ ดังนี้
พืชตระกูลแตง ได้แก่ ฟัก แฟง แตงโม ฟักทอง แตงกวา มะระ เป็นต้น กลุ่มพืชตระกูลแตงส่วนใหญ่แม้ว่าไม่ต้องการน้ำมากแต่ก็ขาดน้ำไม่ได้ การปลูกพืชตระกูลแตงจึงควรระวังไม่ให้ดินชื้นแฉะเพราะอาจจะเกิดโรคต่าง ๆ ได้ง่าย โดยเฉพาะโรคราน้ำค้างที่พบมากที่สุด หากอาการรุนแรงจะทำให้ใบเหลืองและแห้งตาย ส่งผลต่อการติดผลและคุณภาพผลผลิต
พืชผักสวนครัวและสมุนไพร ได้แก่ คะน้า กระเจี๊ยบเขียว กวางตุ้ง พริก มะเขือเปราะ มะเขือพวง ข่า มะกรูด ขมิ้นชัน กระชาย ว่านหางจระเข้ ถั่วฝักยาว ถั่วพู เป็นต้น ผักสวนครัวบางชนิดที่เน้นนำไปใช้เพื่อเพิ่มกลิ่นและรสชาติในอาหาร เช่นมะกรูด ข่า ขมิ้น พริก เหล่านี้สามารถปลูกติดสวนไว้ได้โดยไม่ต้องการการดูแลที่พิถีพิถันมากนักทั้งยังสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตมาใช่ได้ตลอดทั้งปี รวมทั้งพืชผักพื้นบ้านต่าง ๆ เช่น ใบเหลียง ผักหวานป่า ที่ให้ผลผลิตดีในช่วงฤดูร้อนเป็นต้น ก็เป็นอีกทางเลือกที่น่าสนใจไม่แพ้กัน
พืชไร่ ได้แก่ ข้าวโพด มันเทศ มันญี่ปุ่น งา ถั่วต่าง ๆ เช่น ถั่วเขียว ถั่วแดง ถั่วดำ ถั่วลิสง ถั่วฝักยาว เป็นต้น กลุ่มพืชไร่ส่วนใหญ่มักจะเป็นพื้นที่ทนแล้งได้ดี นอกจากนี้สำหรับพืชตระกูลถั่วยังมีคุณสมบัติช่วยบำรุงดิน ในช่วงหน้าแล้วจึงสามารถปลูกพืชกลุ่มนี้เพื่อบำรุงดินในสวนไปด้วยในตัว
ไม้ผลและไม้ยืนต้น ได้แก่ อินทผลัม มะละกอ แก้วมังกร สับปะรด มะพร้าว มะขาม สะเดา แค มะรุม ไผ่ มะม่วงหิมพานต์ น้อยหน่า พุทรา เป็นต้น นอกจากนี้ไม้ยืนต้นทนแล้ง เช่น สะเดา ทองหลาง แค มะรุม แล้วยังมีไม้ผลที่ให้ผลผลิตตามฤดูกาลก็สามารถปลูกได้ดีเช่นกัน รวมทั้งไม้ผลที่สามารถให้ผลผลิตดีแม้ปลูกในพื้นที่สภาพแห้งแล้ง เช่น แก้วมังกร มะขาม น้อยหน่า มะละกอ จึงสามารถนำมาปรับใช้กับสวนที่เจ้าของอาจจะไม่มีเวลาดูแลรดน้ำได้เช่นกัน
พรรณไม้เหล่านี้นอกจากจะทนแล้งได้ดีแล้วยังดูแลง่าย บางชนิดมีระยะเวลาปลูกสั้นๆ ก็สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตมารับประทานได้ เป็นอีกทางเลือกสำหรับผู้ที่ต้องการหาพืชทนแล้งนำไปใช้เป็นแนวทางปลูกพืชกัน
พืชผักพื้นบ้านที่ออกตามฤดูกาลเป็นอีกทางเลือกในการปลูก พืชทนแล้ง เพราะไม่เพียงแต่จะปลูกเลี้ยงง่ายแต่ยังให้ประโยชน์ในแง่ของคุณค่าทางอาหาร บางชนิดยังเป็นพืชผักอายุยืนที่สามารถปลูกในสวนให้ผลผลิตตลอด นอกจากนี้แล้วผักพื้นบ้านยังปลูกง่าย ทนทานต่อสภาพอากาศและไม่ต้องการการดูแลมากนัก เช่น มะระขี้นก แค ลูกเหรียง สะเดา มะรุม เป็นต้น
เคล็ดลับในการเลือกปลูกพืชทนแล้ง
- เลือกปลูกพืชชนิดที่ทนแล้งในช่วงที่มีน้ำไม่เพียงพอ นอกจากพืชตัวอย่างที่แนะนำแล้วปัจจุบันยังมีพืชผักบางชนิดที่มีการปรับปรุงพันธุ์ให้สามารถทนแล้งได้ดีกว่าเดิม สามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมได้จากบริษัทเมล็ดพันธุ์ต่าง ๆ
- ให้น้ำพืชช่วงเช้าและเย็น รวมทั้งมีวัสดุคลุมหน้าดิน เช่นฟางข้าว ใบไม้ หรือพลาสติกคลุมหน้าดิน (สำหรับผู้ที่ปลูกเป็นอาชีพ) เพื่อช่วยลดการระเหยของน้ำ
- ใส่วัสดุที่ช่วยให้ดินอุ้มน้ำ และเพิ่มธาตุอาหารในดิน เช่น ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก ปุ๋ยพืชสด ในพื้นที่ดินทรายสามารถเติมวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการอุ้มน้ำ ได้แก่ ขี้เลื่อย ฟางข้าว ผักตบชวา และขุยมะพร้าว โดยเฉพาะขุยมะพร้าวสามารถเพิ่มความชื้นในดินได้ประมาณ 1.3 เท่า วัสดุอย่างผักตบชวายังมีธาตุอาหารที่ช่วยส่งเสริมการเจริญเติบโตของพืชได้ด้วย
- เลือกปลูกพืชอายุสั้นที่มีอายุเก็บเกี่ยวไม่นาน ทำให้ระยะเวลาการปลูกสั้นลง เช่น ถั่วเขียว ข้าวโพดหวาน ข้าวโพดฝักอ่อน หรือการปลูกพืชแบบหมุนเวียนไร่นาสวนผสม
- วางแผนใช้น้ำอย่างคุ้มค่าที่สุด อาจจะลงทุนทำระบบน้ำเพื่อให้ใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพสูงที่สุด สามารถใช้ได้ทั้งระบบน้ำหยด ไมโครสปริงเกลอร์ มินิสปริงเกลร์ ติดตั้งบริเวณโคนต้น น้ำจะลงสู่บริเวณรากของต้นพืชอย่างช้าๆ และสม่ำเสมอ ช่วยให้ดินมีความชื้นคงที่ พืชจึงได้รับน้ำในปริมาณที่เหมาะสมและสม่ำเสมอทั้งยังช่วยประหยัดเวลาแรงงาน และควบคุมวัชพืชได้ง่าย
- เลือกใช้ระบบให้น้ำที่เหมาะสมกับพืช ได้แก่ มินิสปริงเกลอร์สำหรับไม้ผลระยะ 5 เมตรขึ้นไป ไมโครสปริงเกลอร์ สำหรับพืชผักและไม้ผลระยะชิด ระบบน้ำหยดสำหรับพืชไร่และพืชผัก
สำหรับผู้ที่หาไอเดียปลูกผักและความรู้ในการปลูกผักอื่น ๆ อ่านเพิ่มเติมได้ที่หนังสือ “จัดสวนกินได้อย่างมีสไตล์” และ “ผักนอกปลูกง่าย ทำได้ทุกฤดู” และ “Garden & Farm Vol. 16 เครื่องแกงและพืชเครื่องเทศ” สำนักพิมพ์บ้านและสวน
ขอขอบคุณข้อมูล
– http://www.agriman.doae.go.th/km62/download/1244book.pdf
– สำนักงานพัฒนาวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) www.arda.or.th
– กลุ่มวิจัยและพัฒนาการจัดการดินเสื่อมโทรม กองวิจัยและพัฒนาการจัดการที่ดิน กรมพัฒนาที่ดิน โทรศัพท์ 02-579-1103 https://www.ldd.go.th/Web_Soil/sandy.htm
– ภูมิศักดิ์ อินทนนท์, มานัส ลอศิริกุล, สุวัฒน์ ธีระพงษ์ธนากร. 2544. การเพิ่มประสิทธิภาพการอุ้มน้ำในพื้นดินทรายโดยใช้วัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร. คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี http://www.esanpedia.oar.ubu.ac.th/…/Poomsak_Intanon.pdf
เรียบเรียง : วรัปศร
ภาพประกอบ : หทัยกานต์ อังมีพิษ
ภาพ : สิทธิศักดิ์ น้ำคำ