โอ้กะจู๋ ฟาร์มผักที่เชื่อมโยงชุมชนสู่เกษตรอินทรีย์ที่ยั่งยืน

โอ้กะจู๋ ร้านอาหารผักออร์แกนิกยอดขาย 5,000 ล้าน ที่อยากให้คนทานมีสุขภาพดี กับก้าวถัดไปที่อยากสร้างความยั่งยืนให้กับเกษตรอินทรีย์

สวนผักโอ้กะจู๋ (Ohkajhu Organic Farm) ร้านอาหารชื่อทะเล้นๆ ที่เกิดขึ้นมาจากความฝันของสามเพื่อนซี้จากเชียงใหม่ คุณโจ้-จิรายุทธ ภูวพูนผล, คุณอู๋-ชลากร เอกชัยพัฒนกุล และ คุณต้อง-วรเดช สุชัยบุญศิริ เมื่อสิบกว่าปีที่แล้วพวกเขามีความฝันร่วมกันว่าอยากจะปลูกผักอินทรีย์ให้ครอบครัวได้ทานอาหารที่ปลอดภัย ก่อนจะเปิดร้านอาหารในรูปแบบ Farm to Table ให้คนอื่นได้มาทานผักอินทรีย์จากฟาร์มไม่ต่างจากที่พวกเขาปลูกให้คนที่รัก

ด้วยความตั้งใจจริงที่อยากให้คนได้ทานผักปลอดภัย และมีการควบคุมคุณภาพผักให้สดใหม่ที่สุด ทำให้วันนี้โอ้กะจู๋เป็นที่รู้จักและหลายๆ คนน่าจะได้เคยมาทานผักจากหนึ่งใน 34 สาขาของพวกเขา ผ่านการออกแบบเมนูให้มีภาพลักษณ์น่าสนใจ น่าสนุก น่าทาน

สวนผักโอ้กะจู๋

วันหนึ่ง การเติบโตได้เดินทางมาถึง เมื่อบริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR ได้เข้ามาจับมือร่วมหุ้นกับโอ้กะจู๋ เพื่อต่อยอดการเสิร์ฟเมนูผักอินทรีย์แบบ Grab & Go กับคาเฟ่ Amazon ในปั๊มปตท. หลายสาขาทั่วประเทศ ทำให้โอ้กะจู๋เป็นร้านอาหารผักอินทรีย์แห่งแรกของไทยที่เข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ (SET)

จากความฝันเล็กๆ ในสวนผักเล็กๆ เหมือนจะขยายใหญ่เกินกว่าที่คิด เพราะวันนี้โอ้กะจู๋ขยายพื้นที่ฟาร์มมากขึ้นถึง 400 ไร่ พวกเขามีวิธีการจัดการอย่างไรถึงสามารถรักษาคุณภาพและความสดของผักที่เสิร์ฟในทุกสาขาได้ แล้วความฝันต่อไปที่อยากมีส่วนช่วยทำให้เกษตรกรอินทรีย์ในประเทศเดินทางสู่ความยั่งยืนได้นั้น โอ้กะจู๋วางเส้นทางการก้าวต่อไปอย่างไร มาสวมหมวก ใส่บูท แล้วตามคุณโจ้-จิรายุทธ ภูวพูนผล หนึ่งในผู้ก่อตั้งโอ้กะจู๋เข้าไปดูการทำงานในสวนของพวกเขากัน

บรรยากาศร้านอาหารโอ้กะจู๋สาขาสันทราย จังหวัดเชียงใหม่
สวนผักโอ้กะจู๋
บรรยากาศร้านอาหารโอ้กะจู๋สาขาสันทราย จังหวัดเชียงใหม่
บรรยากาศร้านอาหารโอ้กะจู๋สาขาสันทราย จังหวัดเชียงใหม่

แนวคิดหลักให้ผักเป็นหลัก ส่วนเนื้อเป็นเครื่องเคียง

สิบกว่าปีที่แล้วโอ้กะจู๋เริ่มต้นขึ้นจากการเป็นร้านอาหารเล็กๆ ที่อำเภอสันทรายจังหวัดเชียงใหม่ เสิร์ฟเมนูเสต็กกับสลัดผักอินทรีย์ที่เก็บใหม่ๆ จากฟาร์มผักบริเวณหลังร้านของพวกเขา และมีภาพจำแรกจากเมนูสเต็กซี่โครงหมูอบสับปรด หรือ ซี่โครงสะพานโค้ง ที่เสิร์ฟเนื้อชิ้นโตจนซี่โครงวางเป็นสะพานโค้ง มาคู่กับผักสลัดสดๆ ที่ให้มาแบบพูนจาน

“เราคิดกันไว้แต่แรกเลยครับว่าจะเสิร์ฟแบบไหน ปกติอาหารตะวันตกส่วนใหญ่เราจะเห็นว่าเขามักจะเสิร์ฟเล็กๆ ตกแต่งนิดๆ แต่นั่นเพราะเขาเสิร์ฟเป็นคอร์ส ทานครั้งละหลายจาน แต่เราคิดกันไว้แล้วว่าจะทำในทางตรงกันข้ามคือ เป็นอาหารตะวันตกที่ดูดี รสชาติดี และทานกันแบบอิ่มหนำสำราญสไตล์คนไทย เน้นจุกกันไปเลย” คุณโจ้หัวเราะสนุกขณะเล่าไอเดียจากอดีตของพวกเขา

“นอกจากเนื้อสเต็กชิ้นโตๆ เรายังตั้งใจที่จะเสิร์ฟสลัดในจานให้มีปริมาณที่เยอะกว่าที่อื่นๆ ให้เนื้อเป็นเครื่องเคียงและผักเป็นหลัก เพราะเราอยากนำเสนอผักอินทรีย์ที่เราปลูกเอง” เมื่อรูปลักษณ์อาหารน่าทาน และมีรสชาติที่ดี ผู้คนที่ได้มาร้านโอ้กะจู๋ช่วงแรกจึงชอบที่จะถ่ายรูปเมนูต่างๆ ของพวกเขา เกิดความประทับใจที่ส่งต่อกันแบบปากต่อปาก ในเวลาไม่นานผู้คนก็เริ่มมาที่ร้านโอ้กะจู๋กันมากขึ้น และมาซ้ำบ่อยๆ ด้วยรสชาติที่ดีและยังดีต่อสุขภาพ

การเดินทางสู่กรุงเทพ และ 34 สาขาที่ต้องจัดการให้ดี

ความนิยมที่มากขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้พวกเขาค่อยๆ ขยายร้านพื้นที่ร้าน กระทั่งเริ่มมีลูกค้าจากกรุงเทพฯ เรียกร้องอยากให้ร้านอาหารเพื่อสุขภาพเล็กๆ แห่งนี้ไปเปิดที่กรุงเทพฯ บ้าง เพื่อจะทานได้บ่อยขึ้น

“พวกเราเห็นศักยภาพของกรุงเทพฯ อยู่แล้วครับ ด้วยความเป็นเมืองหลวง ประชากรเยอะ เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจของประเทศ แต่ด้วยความเป็นเด็กต่างจังหวัดพวกเราก็มีความกังวลกันอยู่ จนเริ่มมีลูกค้าทักอินบ็อกมาถามเรามากขึ้นว่า เมื่อไหร่จะมาที่กรุงเทพฯ พอลูกค้าเรียกร้อง เราก็เลยตัดสินใจกันว่างั้นลองลุยกันดู อารมณ์วัยรุ่นคึกคะนอง พอมีลูกค้ามาเรียกร้องใจมันก็ฮึกเหิมครับ (หัวเราะ) ก็เลยเป็นที่มาของร้านสาขาที่กรุงเทพฯ” โอ้กะจู๋ที่กรุงเทพฯ ประสบความสำเร็จตั้งแต่วันแรก จากลูกค้าจำนวนมากที่มาอุดหนุนกันจนแน่นร้านถึงขั้นต้องต่อคิว และทำให้ในเวลาต่อมาพวกเขาขยายสาขาที่กรุงเทพฯ เพิ่มขึ้นอีกจนปัจจุบันโอ้กะจู๋มีทั้งหมด 34 สาขา (2 สาขาที่เชียงใหม่)

สวนผักโอ้กะจู๋

การขยายสาขาเพิ่ม ย่อมหมายถึงว่าพวกเขาต้องปลูกผักจำนวนมากขึ้น ปลูกให้ทันเสิร์ฟในแต่ละวัน และยังต้องหาวิธีควบคุมคุณภาพผักของพวกเขา

“การขยายสาขาของโอ้กะจู๋จะไม่มีทางสำเร็จเลยครับ ตัวเราเองก็จะไม่กล้าด้วย หากระบบหลังบ้านของเราไม่แข็งแรง ในส่วนของฟาร์มตั้งแต่แรกเรามีการวางแผน มีการเก็บข้อมูล เก็บสถิติไว้หมดเลยครับ เรามีตัวเลขที่สามารถช่วยในการตัดสินใจได้ว่า หากจะต้องขยายสาขาเราจำเป็นจะต้องใช้ผักแต่ละชนิดเพิ่มเท่าไร ต้องขยายพื้นที่ปลูกเพิ่มแค่ไหน ซึ่งเราเก็บข้อมูลกันเดือนต่อเดือนเลยครับ”

ปลูกผักต้องปรับตัวตลอดเวลา

คุณโจ้เล่าต่ออีกว่าการปลูกผักแต่ละเดือนมันเปลี่ยนแปลงตลอด หากปลูกช่วงปลายเดือนมกราคมถึงปลายกุมภาพันธ์ การเติบโตของผักก็จะเป็นอีกแบบ เพราะเปลี่ยนจากฤดูหนาวมาเป็นฤดูร้อน ข้อมูลเหล่านี้เหมือนแผนที่ที่ช่วยในการบริหารจัดการของฟาร์มโอ้กะจู๋ ทำให้ดูน่าเชื่อถือ พิสูจน์ได้ เพราะตัวเลขเป็นสิ่งที่สามารถสื่อสารได้อย่างมีเหตุมีผล เห็นภาพที่สุด การเก็บข้อมูลกับตัวเลขที่ได้จึงสำคัญอย่างมาก สาขาที่เพิ่มขึ้นจำนวนมาก ย่อมตามมาด้วยออเดอร์ผักที่เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล การปลูกผักอินทรีย์ในจำนวนมากขนาดนั้นจึงเป็นงานที่หนัก และการควบคุมคุณภาพของผักยิ่งยากกว่า นอกจากการจัดการที่เป็นระบบ สามารถตรวจสอบได้ พวกเขายังได้พัฒนานวัตกรรมขึ้นมาเพื่อช่วยในการกระบวนการปลูกผักของพวกเขาให้ได้คุณภาพและปริมาณให้ตรงตามเป้าที่กำหนด

สวนผักโอ้กะจู๋

“สำหรับผมแล้ว การขยายสาขา การจัดส่งผักไปตามสาขาต่างๆ ไม่ใช่เรื่องยาก แต่ยากที่สุดคือการปลูกผักนี่แหละครับ ด้วยความที่เราปลูกผักสลัดเป็นหลัก ซึ่งหลายชนิดชอบอากาศเย็น แต่บ้านเราไม่ได้มีอากาศเย็นตลอดทั้งปีขนาดนั้น ในแต่ละฤดูการควบคุมให้ผักเติบโตได้ปริมาณและคุณภาพตามเป้าจึงเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยาก ต้องมีการวางแผนจัดการที่ดี เรามีการสร้างระบบเรือนควบคุมอุณหภูมิให้กับผักที่ชอบอากาศเย็น การปลูกผักนอกฤดูใช้ทุนมากกว่าเป็นเท่าตัวเลยนะครับ และเราต้องปลูกเผื่อไว้เสมอเพื่อป้องกันเวลาเกิดเหตุอะไรที่ทำให้ผักบางแปลงใช้ไม่ได้ขึ้นมา”

เดินต่อและไม่หยุดพัฒนา

สำหรับการปลูกผักอินทรีย์ เมื่อเก็บผักจากแปลงนี้เสร็จ จะต้องมีการพักดิน กระบวนการนี้ต้องให้เวลาดินในการฟื้นสภาพ ทำให้แปลงนั้นไม่สามารถปลูกต่อได้ทันที แต่เมื่อแนวโน้มออเดอร์ที่มากขึ้นเรื่อยๆ ประกอบแผนการขยายสาขาเพิ่ม เมื่อมีพื้นที่ที่จำกัด คุณโจ้จึงได้คิดค้นและลองทดลองวิธีการปลูกแบบใหม่ขึ้นมา“การทำธุรกิจต้องมีความยืดหยุ่น ต้องปรับตัวได้ เราต้องมีการวางแผนเตรียมไว้รับมือเสมอ ในส่วนของการปลูกผักเองเราก็ต้องพัฒนาอยู่ตลอดเวลาครับ ด้วยความที่เราเป็นสวนผักขนาดใหญ่ การที่จะไปซื้อที่เพิ่มเพื่อสร้างแปลงผักหรือโรงเรือนใหม่อีกแห่งมันเป็นการลงทุนที่สูงมากๆ เมื่อไม่นานมานี้ผมจึงเริ่มทดลองปลูกผักอีกแบบ เป็นการปลูกผักในถาด วิธีการนี้จะทำให้เราไม่ต้องปลูกผักลงดินในแปลง แต่เป็นบนหลุมในถาดแทน ทำให้เวลาปลูกเราไม่จำเป็นต้องพักดิน”

“เช่นเดียวกัน เวลาปลูกลงดินเราจะต้องมีการเว้นพื้นที่ระหว่างผักแต่ละต้น พื้นที่แปลงหนึ่งก็จะได้ผลผลิตประมาณนี้ แต่การปลูกในถาดนั้นเราสามารถลดพื้นที่เว้นตรงนั้นได้ ทำให้สามารถปลูกปริมาณเพิ่มขึ้นต่อแปลงได้เกือบเท่าตัว ปัจจุบันเราค่อยๆ นำวิธีการนี้มาทดแทนการปลูกลงดิน และค่อยๆ พัฒนาเพิ่มขึ้นในแต่ละปี”

อีกส่วนสำคัญของการปลูกผักก็คือ อาหารของผัก หรือ ปุ๋ย การที่พวกเขาเลือกจะปลูกผักอินทรีย์ นั้นหมายความว่าพวกเขาจำเป็นที่จะต้องมีกระบวนการทำปุ๋ยอินทรีย์ให้เพียงพอต่อจำนวนการปลูกผักที่ปลูกด้วย และปุ๋ยต้องมีคุณภาพที่ดีเพื่อให้ผักเติบโตได้งอกงาม ที่สวนผักโอ้กะจู๋จึงมีส่วนของโรงทำปุ๋ยอินทรีย์โดยเฉพาะ มีโรงเลี้ยงไส้เดือนเพื่อนำมูลมาใช้เป็นปุ๋ย นอกจากการพัฒนาวิธีการปลูกผัก พวกเขาจึงต้องพัฒนากระบวนการทำปุ๋ยให้ได้คุณภาพและปริมาณที่ดีเช่นกัน

“ที่โรงปุ๋ยของเรา เรามีเครื่องผลิตปุ๋ยที่พัฒนาขึ้นโดยต้องอีกหนึ่งหุ้นส่วนของร้านที่เรียนจบด้านวิศวะฯ สาขาจักรกลการเกษตร เครื่องผลิตปุ๋ยของเราสามารถช่วยย่นระยะเวลาการทำปุ๋ยจากกระบวนการปกติที่ใช้เวลา 6 เดือน ให้ทำปุ๋ยได้ในเวลาเพียง 2 เดือน และได้ปุ๋ยคุณภาพที่ดีครับ ซึ่งเรื่องความเร็วยังไม่สำคัญเท่ากับการที่เราสามารถเป็น Zero Waste ได้”

สวนผักโอ้กะจู๋

เปลี่ยนควันให้เป็นปุ๋ย ทำขยะอินทรีย์ให้ Zero Waste

“ด้วยความที่เราต้องปลูกผักปริมาณมาก เราจึงต้องการปุ๋ยในปริมาณที่มากเช่นกัน การที่เรามีเครื่องผลิตปุ๋ยที่สามารถทำปุ๋ยได้ในระยะเวลารวดเร็วช่วยทำให้เราสามารถทำ Zero Waste ได้ ด้วยการนำเศษอาหารจากทางร้าน หรือ เศษผักจากการตัดแต่งที่ไร่นำมาทำเป็นปุ๋ย แต่มันไม่ใช่แค่ที่ร้านของเรา เราอยากช่วยลดขยะในชุมชน หรืองานของเทศบาลต่างๆ ซึ่งต้องมีการตัดแต่งต้นไม้อยู่แล้ว แต่ไม่รู้จะจัดการอย่างไร ให้เอามาให้เราได้เลย เราเลยมีเทศบาลเป็นขาประจำของโรงปุ๋ยเลยครับ (หัวเราะ) หรือพวกเศษอาหารจากร้านอาหารต่างๆ เราก็รับหมดเลยครับ แค่ขอความร่วมมือช่วยคัดเศษพลาสติกออกให้หน่อย นอกจากนั้นเกษตรกรต่างๆ ที่มีเศษอินทรียวัตถุหลังการเก็บเกี่ยวก็สามารถนำเศษพืชเหล่านั้นมาให้เรา แล้วรับปุ๋ยของเรากลับไปปลูกผักต่อได้เลยครับ

“ที่เราทำแบบนี้ เพราะเราอยากเป็นส่วนหนึ่งที่สามารถช่วยลดการเผาซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดฝุ่น PM2.5 ได้ไม่มากก็น้อย เพราะเรื่องปัญหาฝุ่นควันมันส่งผลกระทบต่อเราทุกคนเลย เราอยากจะช่วยลดมันลงได้บ้าง”

สวนผักโอ้กะจู๋

โอ้กาด ที่มอบโอกาสและสร้างความยั่งยืนให้กับเกษตรอินทรีย์

จากจุดเริ่มต้นคุณโจ้มองว่าจะจัดการผักของฟาร์มเองทั้งหมด ไม่ได้ไปรับซื้อจากเกษตรกรอื่นๆ เพราะไม่มั่นใจว่าจะสามารถควบคุมคุณภาพของผักได้ และคิดว่าลูกค้าน่าจะเชื่อใจมากกว่าหากเราเป็นคนปลูกเอง แต่ด้วยปริมาณความต้องการที่เพิ่มขึ้น บวกกับอยากจะช่วยเกษตรกร ทำให้เริ่มเปลี่ยนความคิดและลองรับซื้อผักอินทรีย์จากเกษตรกรในพื้นที่ภาคเหนือ ภายใต้การดูแลแนะนำของโอ้กะจู๋

“ตอนแรกเราเริ่มจากการเข้าไปคุยกับเครือข่ายเกษตรกรอินทรีย์ต่างๆ พอไปสัมผัสพวกเขา ทำให้เห็นภาพเหมือนตอนที่เราเริ่มต้น ที่ยังขาดองค์ความรู้และก็ล้มเหลวมาก่อน ที่ฟาร์มเคยโดนน้ำท่วม โรงเรือนพัง เก็บผลผลิตไม่ได้ เรารู้ว่าทุกครั้งที่มันล้มเหลว มันบั่นทอนกำลังใจมาก แต่พอถึงช่วงที่เราเก็บผักแล้วมันขายได้ เราจึงรู้สึกดีใจมากเลย ผมก็เลยตัดสินใจตั้งทีมส่งเสริมเกษตรกรขึ้นมา ให้เขาลงพื้นที่ทำเกษตรบนดอยต่างๆ ไปให้คำแนะนำกับเกษตรกรถึงแนวทางในการทำเกษตรอินทรีย์ ไม่ต้องให้เขาลองผิดลองถูกเพราะเราไปช่วยเขาทำไปในทางที่ถูกต้องเลยดีกว่า”

สวนผักโอ้กะจู๋

“พอเวลาผ่านไปเราเริ่มเห็นว่าเขาสามารถเก็บผลผลิตได้อย่างต่อเนื่อง เริ่มมีเงินเก็บสะสม ไม่ใช่เหมือนก่อนนั้นเก็บได้แค่บางฤดูทำให้ขาดทุน พอเราเห็นเขาพัฒนาขึ้น เรารู้สึกดีใจมากๆ เลย ที่ได้ช่วยทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกรพลิกจากติดลบเป็นมีรายได้ ปีที่แล้วโอ้กะจู๋ใช้เงินอุดหนุนผักจากเกษตรกรในเครือข่ายไปทั้งหมด 13 ล้านบาท ลองนึกภาพเงินเหล่านี้ไปกระจายอยู่ตามดอย ตามอำเภอต่างๆ อย่าง แม่วาง จอมทอง แม่แจ่ม หรือจังหวัดลำพูน จังหวัดน่าน เรารู้สึกดีมากๆ เลยครับ ผมเห็นความสุขของกลุ่มเกษตรกร ผมเห็นเขามีเงินเก็บจากที่ติดลบ ทำให้เขามีความสุขนะ เรารู้สึกยินดีกับตรงนั้นมาก” ประเภทของผักที่ร้านโอ้กะจู๋ใช้เป็นหลักคือผักสลัด แต่เครือข่ายเกษตรกรอินทรีย์อีกหลายคนยังไม่มีความรู้ในการปลูกผักสลัดได้ ส่วนใหญ่มักจะมีความรู้ในการปลูกผักพื้นบ้าน เป็นโจทย์ให้โอ้กะจู๋คิดหาจุดเชื่อมต่อตรงกลางที่จะสนับสนุนเกษตรกรเหล่านี้ได้ ทำให้เกิดโปรเจกต์ที่ชื่อว่า โอ้กาด

“โอ้กาด เป็นชื่อที่น้องในทีมเสนอขึ้นมา โอ้ มาจาก โอ้กะจู๋ กาดแปลว่า ตลาดทางภาคเหนือ และมันยังไปพ้องเสียงกับคำว่า โอกาส ด้วย ซึ่งเราอยากจะให้โอกาสกับเกษตรกรเลยตัดสินใจลองเอาผลผลิตของเขามาวางขายที่หน้าร้าน ออกแบบแพคเกจ ทำมาร์เกตติ้งให้น่าสนใจ ก็ได้รับผลลัพธ์ที่ดีจากลูกค้า และเราก็ได้ช่วยเหลือสนับสนุนเกษตรกรด้วย เราทำมาได้สองปีแล้ว ซึ่งปัจจุบันเราขยายผลตรงนี้ ให้มีผักโอ้กาดวางขายอยู่ทุกสาขาเลยครับ”

“เราก็เกษตรกรด้วยกันครับ หากโครงการโอ้กาด เป็นจุดเชื่อมต่อให้เราสามารถช่วยกันและกันได้ ก็ย่อมส่งผลดีและต่อยอดให้เกิดความยั่งยืน เกิดประโยชน์ร่วมกันได้ ไม่ใช่แค่กับเราแต่ฝ่ายเดียว”

สวนผักโอ้กะจู๋

พี่ใหญ่และน้องใหม่ที่ไม่เคยหยุดอยู่กับที่

ปัจจุบันโอ้กะจู๋มีแผนจะขยายสาขาของพวกเขาเพิ่มขึ้น และยังได้เปิดแบรนด์เพิ่มขึ้นมาอีกสองแบรนด์ ได้แก่ Oh Juice ร้านขายเครื่องดื่มสมูตตี้จากผักผลไม้อินทรีย์ และ Ohkajhu Wrap & Roll ร้านสลัดโรลที่สามารถสั่งและนำกลับไปกินที่บ้านได้

“สมูตตี้เป็นเมนูที่ขายดีมากๆ อยู่แล้วของทางร้าน เป็นเมนูที่เรามีตั้งแต่วันแรก แล้วลูกค้าเราก็ชอบอย่างเมนูกีวี่แมงโก้ เรามองว่าโอ้กะจู๋ขยับขยายตอนนี้เริ่มจะยากแล้ว ด้วยความที่โอ้กะจู๋เป็นสเกลใหญ่ ต้องมาคำนึงถึงหลายอย่าง แต่หากลองแตกแบรนด์ใหม่ออกมาน่าจะดีกว่า ก็เลยเกิดเป็น Oh Juice กับ Ohkajhu Wrap & Roll เป็นร้านขนาดเล็กที่น่าจะมีโอกาสขยับขยายได้ง่ายและเยอะขึ้น เราคิดว่าการแยกออกมาอีกสองแบรนด์จะทำให้เกิดโอกาสมากขึ้น ลูกค้ามีตัวเลือก และทางเกษตรกรในเครือข่ายเองก็ได้รับโอกาสที่เพิ่มขึ้นจากตรงนี้ด้วยเช่นกัน”

“ในอนาคตเราตั้งใจกันไว้ว่าจะพยายามขยับไปสู่ต่างประเทศให้ได้ นั่นคือแผนที่เราวางกันไว้ แต่ใกล้ๆ ตอนนี้เราคิดว่า จะทำส่วนที่ทำอยู่ให้มั่นคง และกระจายโอกาสไปให้กับเกษตรกรได้จำนวนมากขึ้นก่อนดีกว่า เราอยากให้ตรงนี้มันยั่งยืนก่อน ให้แข็งแรงมากกว่านี้ก่อนจะไปสู่ตลาดโลกต่อไป” คุณโจ้กล่าวทิ้งท้าย

อัปเดทข่าวสารของโอ้กะจู๋ได้ที่ https://www.facebook.com/ohkajhuorganic

เรื่อง : อนิรุทร์ เอื้อวิทยา

ภาพ : ภูพิงค์ ตันเกษม