อาชีพปลูกผักของกราฟิกดีไซเนอร์ที่หัวใจบอกว่าผักฉันต้องรอด

หลังจากได้รับคำเชิญจากสองกราฟิกดีไซเนอร์ที่ส่งข้อความมาบอกเราว่า อยากให้ทีมงานมาชมสวนผัก “สวนข้างบ้าน” ที่ ปลูกผักสวนครัว ทำฟาร์มผักเล็ก ๆ ในกรุงเทพฯ ซึ่งแบ่งพื้นที่ข้างบ้านสำหรับใช้ปลูกผักออร์แกนิกไว้รับประทานเอง และทำปุ๋ยมูลไส้เดือนจำหน่ายด้วย

เราจึงไม่อาจปฎิเสธคำเชิญให้มาชมแปลง ปลูกผักสวนครัว ได้ กระทั่งได้มาเห็นภาพสถานที่จริง ยิ่งทำให้เข้าใจได้ดีถึงความตั้งใจของ Urban Farmer ที่เขาเน้นย้ำกับตัวเองว่า ผักฉันต้องรอด! จนเกิดเป็น “สวนข้างบ้าน” ฟาร์มผักขนาดเล็กแห่งนี้ขึ้น โดยผ่านสองมือของคุณส้ม-กัญญ์ณพัชร์ ศิวะมงคลกุล และคุณต้น-ภาวลี เศรษฐานุพนธ์ กราฟิกดีไซเนอร์ที่พักมือจากคอมพิวเตอร์มาเริ่ม ปลูกผักสวนครัว ผักปลอดสารพิษไว้รับประทานเอง

ปลูกผักสวนครัว
ภาพมุมสูงของสวนผักข้างบ้าน มีโรงเรือนปลูกผักประกอบอยู่ในพื้นที่ 200 ตารางวา ที่วางผังอย่างเป็นระเบียบ

เเม้จะเริ่มต้นมาจากศูนย์ ไร้ความรู้พื้นฐานเรื่องการเกษตร ซึ่งดูเหมือนจะต่างขั้วเเละอยู่คนละโลกกับงานกราฟิกดีไซน์ ทั้งคู่จึงได้เริ่มเรียนรู้เรื่องการปลูกผักเเบบ “คอร์สเร่งรัด” ภายในเวลา 3 เดือน เเม้จะล้มเหลวไปบ้างในครั้งเเรก ๆ  เเต่ด้วยความที่ไม่ย่อท้อเเละพลังบวกที่อยากปลูกผักให้สำเร็จ สิ่งที่ได้รับการวัดผลในวันนี้ จึงเกิดเป็นภาพฟาร์มผักที่เป็นเสมือนภาพฝัน อย่างที่คุณส้มเเละคุณต้นกำลังพาเราเดินชมอยู่ในตอนนี้

แปลง ปลูกผักสวนครัว ของคนไม่กินผัก!

ปลูกผักสวนครัว
แปลงผักของ สวนข้างบ้าน ผักสลัดนานาชนิดกำลังแตกกอสวยงาม

แม้ว่าภาพสวนผักที่เราเห็นจะค่อนข้างสมบูรณ์ ซึ่งประกอบด้วยผักหลากหลายชนิด ทั้งผักในเมนูสลัดอย่าง ผักคอส กรีนโอ๊ก เรดโอ๊ก วอเตอร์เครส ผักเคล สวิสชาร์ด คะน้า กวางตุ้ง และผักพื้นบ้านอย่างกะเพรา โหระพา แต่คุณส้มผู้เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงกลับเป็นคนที่ไม่ชอบกินผัก ด้วยความรู้สึกที่ว่า กินผักแล้วรสชาติมันขม ไม่อร่อย แต่มาวันหนึ่งเธอกลับรู้สึกว่าอยากลองกินผักขึ้นมา จึงค้นหาผักที่กินแล้วอร่อย จนมีโอกาสได้ลิ้มลองผักออร์แกนิกที่ปลูกแบบเกษตรอินทรีย์ ทำให้เกิดความมุ่งมั่นว่าจะต้องปลูกผักที่อร่อย ไม่ขม หวานกรอบ กินแล้วปลอดภัย นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นของแปลงผักแปลงแรกที่เกิดขึ้นเมื่อ 8 เดือนที่แล้ว

“เราทั้งคู่ลองหันมาปลูกผักกินเอง ซึ่งตอนแรกเริ่มปลูกเป็นไฮโดรโปนิกส์ พอเราปลูกเป็นไฮโดรโปนิกส์ กินแล้วรู้สึกว่าผักยังขมอยู่ เลยเกิดคำถามว่า หรือเรามาผิดทาง? จึงเริ่มศึกษาใหม่จนไปค้นพบว่า ถ้าจะปลูกผักให้ไม่ขมต้องลองปลูกลงดิน ครั้งแรกที่เราปลูกก็ลองกินผักตัวเองก่อน ก็ยังมีรสชาติติดขม เเละผักยังไม่สวย กระทั่งมารู้ว่าผักที่ปลูกเเล้วไม่ขมนั้น เขาใช้สูตรน้ำหมักเฉพาะสำหรับรดผัก เป็นแนวเกษตรอินทรีย์ ปลอดสารพิษ เมื่อรู้อย่างนั้นเราก็เลยลองเรียนรู้กันใหม่ค่ะ”

คุณครู YouTubeและ คอร์ส ปลูกผักสวนครัว เร่งรัด 3 เดือนต้องเห็นผล

ปลูกผักสวนครัว
แปลงผักยกสูงมีตาข่ายกันนก

“เริ่มแรกคือศึกษาจากยูทูป  เราก็ศึกษาสูตรน้ำหมักซึ่งในนั้นมีบอกไว้เยอะมาก แต่ก็ยังไม่ได้ความกระจ่าง ไม่แน่ใจว่าแต่ละสูตรใช้อย่างไร เราก็เลยไปเรียนตามฟาร์มผัก ไปศึกษาดูงาน ตะลอนกินผักที่เขาปลูก เป็นความรู้แบบครูพักลักจำ บ้างก็ไปเรียนรู้จริงจัง พอเรียนปุ๊บคุณครูก็จะแนะนำสิ่งที่เราไม่เคยรู้มาก่อน ให้รู้จักดิน  แสง ทิศทางลมแดด ปุ๋ยอินทรีย์ แล้วก็สอนสูตรน้ำหมักฮอร์โมนไข่ ฮอร์โมนอะไรหลาย ๆ อย่าง เพื่อทำให้ผักหวานกรอบ”

ปลูกผักสวนครัว
คะน้าต้นอวบอ้วนในสวน

คุณต้นเล่าเสริมว่า “เราเรียนไปทำไปเรื่อย ๆ ค่ะ ในระยะเวลา 8 เดือนที่เราเริ่มต้นก็คือ ไปเรียนเสร็จแล้ว เราก็กลับมาปลูก พอ 3 เดือนผ่านไป ผักเริ่มโตแล้วเห็นผลว่าผักเรามันงามแน่เลย เราก็ไปเรียนใหม่ ไปเรียนใหม่เรื่อย ๆ ไปเขาใหญ่ บินไปเชียงใหม่ ไปนู่นไปนี่ คือทำทุกอย่างเพราะเราอยากทำให้ได้ พอเราทำไม่ได้ เราก็ไม่เข้าใจว่าทำไม เพราะเราก็ทำตามยูทูปทุกอย่าง แต่การไปเรียนรู้ในสถานที่จริง ไปเรียนรู้ที่ฟาร์มที่เขาใหญ่ ไปดูฟาร์มที่เชียงใหม่ ซึ่งอากาศดีปลูกอะไรก็งาม ไปรู้จักเมล็ดพันธุ์แบบไหนอะไรอย่างไร เป็นการเปิดโลกให้เราเข้าใจการปลูกผักมากขึ้น เราเลยพยายามสั่งเมล็ดพันธุ์ที่ดี ๆ มาปลูก เพื่อให้ผักของเราแข็งแรง จะเริ่มเห็นผลจริง ๆ ก็เป็นเดือนที่ 4 ที่ผักเริ่มโตสวยงาม”

ปุ๋ยอินทรีย์เรียนที่สถาบัน (เกษตร) ชั้นนำ

ปลูกผักสวนครัว
มูลวัวแช่น้ำก่อนนำมาเป็นอาหารให้ไส้เดือน ส่วนน้ำหมักนำไปผสมกับน้ำหมักกากกาแฟ เป็นปุ๋ยหมักบำรุงผัก

“หลังจากนั้นเรารู้ว่า เศษอาหาร เอามาทำเป็นจุลินทรีย์สังเคราะห์แสงได้ เศษใบไม้ทำเป็นปุ๋ยหมักได้ แล้วก็กลับมาทดลองทำกับผักที่กำลังปลูก ใช้วัตถุดิบภายในบ้านที่เหลือใช้นำมาทำให้เกิดประโยชน์ จนได้ไปเรียนรู้การทำ ‘ปุ๋ยหมักแบบไม่กลับกอง’ สูตรของม.แม้โจ้ที่เราบินไปเรียนถึงเชียงใหม่ นำกลับมาทดลองทำดู”

ปลูกผักสวนครัว
ไส้เดือนที่กำลังผลิตปุ๋ยในกะละมังบ้านไส้เดือน

เรื่องปุ๋ยหมักยังไม่ถึงที่สุดเมื่อคุณส้มศึกษาจนรู้ว่า ปุ๋ยที่ดีต่อผักที่สุดคือ ‘ปุ๋ยมูลไส้เดือน’ ซึ่งคงหนีไม่พ้นแหล่งเรียนรู้ที่ขึ้นชื่อเรื่องนี้นั่นคือ ฟาร์มลุงรีย์

“แรก ๆ ทดลองกันเองก่อน เลี้ยงได้มา 3-4 กะละมัง ตายเพียบเลย เพราะเราไม่รู้ว่าเขาอยู่อากาศร้อนไม่ได้ เขาต้องอยู่ในสภาพอากาศที่ชุ่มชื้น เราก็เลยไปเรียนใหม่ แล้วเราก็ไปรู้จักกับลุงรีย์ เขาสอนเรื่องการเลี้ยงไส้เดือนเปิดโลกให้รู้ว่าดินถุงที่เคยใช้นั้นไม่มีประโยชน์  ไม่มีสารอาหาร จะเลี้ยงไส้เดือนให้ถ่ายออกมาต้องใช้ขี้วัวหมัก แล้วจึงค่อยแยกน้ำหมักออกไปใช้รดน้ำผัก และนำขี้วัวมาใส่ในกะละมังเลี้ยงไส้เดือน โดยใช้เวลาหมัก 1 เดือนกว่าจะได้ปุ๋ยมูลไส้เดือนที่ใช้ได้จริง พอเลี้ยงจนเริ่มได้ผลผลิตมากขึ้น ตอนนี้ก็พอแบ่งขายได้บางส่วนแล้ว”

ปลูกผักสวนครัว
ปุ๋ยมูลไส้เดือนที่พอแบ่งจำหน่ายได้แล้ว

สารพัดน้ำหมักบำรุงต้นไม้

ปลูกผักสวนครัว
จุลินทรีย์สังเคราะห์แสง ที่ผสมเองรอครบกำหนดใช้งาน

“ส่วนใหญ่น้ำหมักเราจะทำเอง โดยใช้สิ่งที่หาง่ายเเละเรามีอยู่เเล้ว อย่าง น้ำหมักขี้วัว ที่เหลือจากเลี้ยงไส้เดือน โดยนำมาผสมกับกากกาแฟเหลือทิ้งที่ได้มาจากคนรู้จัก ซึ่งเราเรียนมาว่าทั้งสองอย่างนี้ดีต่อผักทั้งคู่ เลยนำมาผสมกันเพื่อทำเป็นปุ๋ยหมักทิ้งไว้ ตอนนี้ก็น่าจะมา 6 เดือนแล้ว ทุกเช้าเราก็จะนำไปผสมน้ำใช้รดแปลงผัก เป็นการช่วยเพิ่มไนโตรเจนให้กับพืช ช่วยเร่งการเจริญเติบโต หรือบางทีก็เติมน้ำหมักปลาลงไปด้วย เพราะจะทำให้ต้นโตเร็ว หวานกรอบ หน่อกล้วยเปลือกกล้วยแถวบ้านก็นำมาหมักได้ เรียกว่าไม่ต้องใช้สารเคมีใด ๆ เลย”

ปลูกผักสวนครัว
น้ำหมักสูตรต่าง ๆ วางเก็บไว้ใต้แปลงผักอย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย
ปลูกผักสวนครัว
เปลือกไข่ป่นละเอียด เป็นทั้งปุ๋ยและกันหอยทากได้

ระบบน้ำ ระบบไฟ ที่ค่อย ๆ ศึกษา

ปลูกผักสวนครัว
ระบบพ่นหมอก 4 หัวที่กระจายละอองน้ำแบบฝอยขนาดเล็กแบบที่ผักสลัดต้องการ

หลังจากไปดูงานตามฟาร์มต่าง ๆ  ทั้งสองสังเกตเห็นว่า แปลงผักสลัดเป็นผักที่ทนอากาศร้อนไม่ค่อยได้ แต่ก็ต้องมีแสงเต็มวัน เมื่อจะลงมือปลูกจึงติดระบบพ่นหมอกกันเอง ก่อนจะค้นพบว่าระบบพ่นหมอกสำหรับผักสลัดต้องเป็นแบบฝอยละเอียด ระหว่างทดลองทำเองในตอนแรก ด้วยการทำพ่นหมอกแบบ 2 หัว แต่ละอองน้ำที่ได้กลับไม่ค่อยมากสักเท่าไหร่ บวกกับใช้ปั๊มตัวเล็กทำให้แรงดันน้ำไม่มากพอ จึงไม่สามารถกระจายได้ทุกทิศทาง

“หลังจากที่พบปัญหาเราก็เริ่มใหม่ โดยเปลี่ยนเป็นปั๊มตัวใหญ่ แล้วใช้หัวพ่นเป็น 4 หัว เปลี่ยนไปทีละขั้น เป็นการทดลองล้วน ๆ เลยค่ะ ก็ดูยูทูปไปด้วยว่าเขาทำกันอย่างไร เราเรียนกราฟิกเรื่องพวกนี้เเทบไม่มีความรู้เลย จึงต้องใช้การลงมือทำ ลองผิดลองถูก จนรู้ว่าหัวพ่นแบบไหนถึงจะใช้ได้ ”

ส่วนระบบไฟในสวน คุณส้มและคุณต้นเลือกติดตั้งแบบแผงโซลาร์เซลล์ขนาดเล็กรอบ ๆ แปลงผัก สำหรับให้แสงสว่างตอนกลางคืน เพราะทั้งคู่มักใช้เวลาว่างช่วงนั้นมาดูแลแปลงผัก เพราะอากาศไม่ร้อนมากเท่าตอนกลางวัน

 ดีไซน์แปลงผักของนักออกแบบกราฟิกที่ต้องต่อสู่กับนก

รองก้นแปลงด้วยหลังคากระเบื้องลอนคู่ ช่วยไม่ให้น้ำขังได้

นอกจากความเป็นระเบียบเรียบร้อย ความสะอาดสะอ้าน และการผังตำแหน่งของแต่ละส่วนในสวนขนาด 200 ตารางวาอย่างชัดเจนแล้ว ทั้งคู่ยังได้นำความรู้ด้านงานออกแบบมาใช้ดีไซน์แปลงปลูกผักให้ใช้งานได้อย่างเหมาะสมด้วย

“จากประสบการณ์ที่ไปดูงานตามฟาร์มต่าง ๆ เห็นว่าส่วนใหญ่เขาใช้ต้นทุนให้ต่ำที่สุด และได้คำแนะนำให้ใช้วัสดุที่หาได้ง่าย อย่างการทำแปลงยกสูง เพื่อให้สามารถวางเครื่องมือต่าง ๆ ข้างใต้ได้ไม่ระเกะระกะ หรือจะใช้ปลูกผักที่ชอบแสงน้อยอย่าง ผักเป็ด หรือกุยช่ายก็ได้ ส่วนวัสดุที่ใช้รองแปลงปลูกเราใช้กระเบื้องลอน  เวลารดน้ำน้ำจะไหลระบายลงพื้น  ไม่ขังที่ก้นแปลง  ส่วนโครงเหล็กเราก็ให้คนงานที่บ้านช่วยทำให้ ติดตั้งซาแรนโปร่งแสง และตะแกรงกันนกซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมาก”

ตารางโน้ตวันเวลาให้ปุ๋ยอินทรีย์ป้องกันการหลงลืม

คุณส้มเล่าถึงที่มาของการทำตะเเกรงกันนกนี้ให้ฟังว่า  “ตอนแรกเราวางต้นกล้าผักเอาไว้ วันต่อมาต้นกล้าหายไปประมาณ 2 ถาด หรือประมาณ 200 กว่าต้นค่ะ เราก็ตกใจว่าเป็นไปได้อย่างไร แต่พอดีเรามีกล้องวงจรปิดก็เลยเห็นว่าแถวนี้มีนกกระจอกเยอะ นกจะเข้ามาจิกกินผักของเรา จนต้องหาวิธีป้องกันโดยใช้แผงตะแกรงพลาสติกแล้วใช้กิ๊ฟมาหนีบไว้ ทำทุกอย่างให้นกไม่เข้ามาได้ ก็เลยได้รูปแบบเหมือนเป็นกรงอย่างที่เห็น”

เรื่องสนุกของเกษตรกรสายเปย์ที่เกิดขึ้นในแปลงผัก

ปลูกผักสวนครัว
แปลงผักเคลและสวิสชาร์ดที่ทดลองปลูกในหลาย ๆ วัสดุ ทั้งกระถาง กระสอบแสนดี และแปลงดิน ซึ่งแปลงดินจะให้ผลผลิตที่งามกว่ามาก

แม้ว่าจะได้สมญานามว่าเป็น “เกษตรกรสายเปย์” เพราะทุ่มทุนเพื่อให้ผักที่ปลูกแบบไม่คิดเสียดาย ตอนนี้ผักบางส่วนเริ่มผลิดอกออกผลสร้างรายให้คุณส้มเเละคุณต้นได้บ้างเเล้ว แต่ก็ยังห่างไกลกับค่าใช้จ่ายที่ลงแรงไปมากโข แต่ทั้งคู่ก็คิดเห็นตรงกันว่าการลงมือทำตรงนี้ยังเป็นความสนุก ไม่ได้คิดว่าจะต้องรีบคืนทุนเร็วแค่ไหน แต่อยากจะขายผักที่เรามีด้วยการเพิ่มมูลค่า อย่างการนำผักเคลราชินีแห่งผักที่มีประโยชน์สารพัดมาแปรรูปเป็นเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพออกวางจำหน่าย หรือจะเป็นปุ๋ยมูลไส้เดือนที่เริ่มแบ่งขายได้บ้างแล้ว

“เกษตรกร น่าจะเป็นอาชีพที่ 2 ของเรา เพราะทุกวันนี้เริ่มจะชอบมากขึ้นเรื่อย ๆ เเต่ก่อนเราทำงานกราฟิกอยู่แต่หน้าจอคอมพิวเตอร์นาน ๆ ก็มีบ้างที่เริ่มเบื่อ แต่พอได้มาอยู่ท่ามกลางแปลงผัก เรากลับอยู่ได้ทั้งวันเเละความรู้สึกที่ดี จึงคิดว่าจะทำตรงนี้เป็นอาชีพรอง อาชีพหลักก็ยังทำกราฟิกอยู่ ช่วงโควิด-19 ผักสลัดขายดีมาก ซึ่งสวนทางกับงานกราฟิกที่เราเป็นฟรีแลนซ์ จากสถานการณ์ครั้งนี้ นี่อาจจะเป็นชีวิตแบบ New Normal ในแบบของเราก็ได้ เรียกว่าเป็นจังหวะที่ดี เป็นช่วงที่เราทำสำเร็จแล้ว เราปลูกผักได้แล้ว”

อีกมุมเป็นแปลงผักพื้นบ้าน อย่างกะเพรา โหระพา ปลูกในแปลงคอนกรีตเป็นระเบียบ

“ตอนนี้ผักของเราไม่พอขาย จึงมีแพลนว่าเราจะต้องปลูกผักเพิ่มมากขึ้น และเราเองก็อยากมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น ๆ ที่เขาสนใจอยากปลูกผักออร์แกนิกเหมือนกันกับเรา จึงคิดว่าหลังจากนี้จะเปิดให้คนเข้ามาเรียนรู้ แต่สถานที่อาจจะไม่เพียงพอ ถ้าหากมีคนมาเยอะ ๆ เพราะถึงอย่างไรที่นี่ก็ยังมีความเป็นบ้าน อนาคตอาจจะหาทางต่อไปว่าทำอย่างไรถึงจะลงตัว เหมือนอย่างปัญหาที่เราเคยหาทางแก้กันมาได้ตลอดค่ะ” คุณส้มกล่าวทิ้งท้าย

ปลูกผักสวนครัว
มุมผักเคลที่จำหน่ายได้ทั้งใบและแปรรูปเป็นเครื่องดื่มได้
เครื่องดื่มแปรรูปจากผักเคลสำหรับคนที่กินผักยาก

สถานที่ : สวนข้างบ้าน ซอยเทียนทะเล 7 แยก6 ถนนบางขุนเทียน-ชายทะเล โทรศัพท์ 09-3 519 -5692

เรื่อง JOMM YB

ภาพ ศุภกร

แหล่งเรียนรู้วิธีปลูกผักปลอดสารพิษ สำหรับสวนผักคนเมือง

ปลูกผักเหล่านี้ควรเว้นระยะให้ห่างกัน!

รวมสูตรน้ำหมัก&ปุ๋ยหมัก สำหรับปลูกผักปลอดสารพิษ