เคล็ด (ไม่) ลับ ปลูกมะเขือเทศแฟนซี แบบไร้สารเคมี

ใคร ๆ อาจมองว่าการวิธี ปลูกมะเขือเทศ อินทรีย์ นั้นยุ่งยาก เพราะมีโรคแมลงรบกวนมากจนทำให้ไม่ได้ผลผลิต

แต่ความจริงแล้วเพียงแค่คุณเข้าใจว่ามะเขือเทศต้องการอะไร โดยเฉพาะเมื่อสามารถเตรียมดิน ปลูกมะเขือเทศ ให้มีธาตุอาหารอย่างเพียงพอ ควบคู่กับการป้องกันโรคแอนแทรคโนสที่เป็นปัญหาหลัก เท่านี้ก็จะช่วยให้มะเขือเทศออกผลได้สวยงามดังใจ โดยไม่จำเป็นต้องใช้สารเคมี

สำหรับมือใหม่ที่อยากเรียนรู้วิธี ปลูกมะเขือเทศ ในสวนหลังบ้านเพื่อรับประทานเอง แบบไม่ใช้สารเคมี เรามีเทคนิคดี ๆ จากคุณกัมปนาท เนตรภักดี ผู้เขียนหนังสือ My Little Farm Vol.8 ผักสลัดปลูกง่าย มาฝากกัน

ปลูกมะเขือเทศ

รู้จักก่อน ปลูกมะเขือเทศ

มะเขือเทศถือเป็นผลไม้หรือผักกินผลที่ได้รับความนิยมบริโภคกันทั่วไป มีหลายพันธุ์ที่นิยมปลูก ทั้งมะเขือเทศสีดา มะเขือเทศผลใหญ่ มะเขือเทศเชอร์รี่ และมะเขือเทศราชินี รวมทั้งมะเขือเทศพันธุ์พื้นบ้านของไทย ซึ่งทุกพันธุ์ต่างมีสารไลโคปีน (Lycopene) ที่ช่วยป้องกันการเกิดโรคหัวใจและมะเร็ง นอกจากมีคุณค่าทางโภชนาการสูงแล้ว ยังมีสีสันหลากหลาย รับประทานผลสดได้ทั้งยังนำไปปรุงประกอบในเมนูต่าง ๆ แต่บางคนอาจมีอาการแพ้ ทำให้เกิดผื่นตามผิวหนังและแผลในปาก มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง และเกิดแก๊สในกระเพาะอาหาร หรือทำให้ปวดศีรษะสำหรับผู้ที่เป็นไมเกรนได้

ปลูกมะเขือเทศ

สำหรับพันธุ์มะเขือเทศที่คุณกัมปนาทแนะนำในบทความนี้ล้วนเป็นพันธุ์ที่ต้านทานโรค ให้ผลผลิตสูง ตลาดมีความต้องการทั้งเพื่อบริโภคและนำเมล็ดพันธุ์ไปปลูกต่อ ได้แก่

  • เยลโลว์พลัม (Yellow Plum Tomato) มะเขือเทศผลสีเหลือง ขนาดผลไม่ใหญ่มาก รสหวานอมเปรี้ยว นิยมรับประทานสด
  • แบล็กเชอร์รี่ (Black Cherry Tomato) มะเขือเทศเชอร์รี่ผลสีน้ำตาลดำ รสหวานอมเปรี้ยว นิยมรับประทานสด
  • ซานมาร์ซาโน (San Marzano Tomato) มะเขือเทศผลยาวรี เนื้อแน่น รสหวาน นิยมรับประทานสดและใช้ทำซอสมะเขือเทศ
  • มะเขือเทศ บิ๊กท้อ มะเขือเทศท้อ ผลค่อนข้างกลมสีส้ม ผิวผลเป็นมัน รสเปรี้ยวอมหวาน นิยมใช้ปรุงอาหาร
  • มะเขือเทศ บิ๊กกลม มะเขือเทศผลใหญ่ รสหวานอมเปรี้ยว นิยมรับประทานสดและทำอาหาร
ปลูกมะเขือเทศ
ปลูกมะเขือเทศ

เทคนิค ปลูกมะเขือเทศ แบบไร้สารเคมี

ก่อนอื่นต้องรู้ว่าต้องการปลูกมะเขือเทศเพื่อนำไปทำอะไร เช่น รับประทานสด แต่งจานอาหาร หรือประกอบอาหาร จากนั้นก็เลือกพันธุ์ปลูกตามวัตถุประสงค์

มะเขือเทศเป็นไม้เลื้อยอายุสั้น ต้องการแสงในการเจริญเติบโตค่อนข้างมาก ถ้าให้ดีพื้นที่ปลูกควรได้รับแสงตลอดวันหรืออย่างน้อยวันละ 4 ชั่วโมง ชอบดินร่วนระบายน้ำดี มีอินทรียวัตถุสูง ตั้งแต่เพาะเมล็ดจนเก็บเกี่ยวใช้เวลาประมาณ 75-90 วัน ซึ่งวิธีปลูกที่แนะนำนี้สามารถปรับใช้กับการปลูกมะเขือเทศได้ทุกพันธุ์

ปลูกมะเขือเทศ

วิธีเพาะเมล็ดเพื่อ ปลูกมะเขือเทศ

วัสดุเพาะเมล็ดใช้ดินร่วนหรือดินที่สามารถหาได้ ร่อนผ่านตะแกรงหรือตะกร้าตาถี่ ขุยมะพร้าวร่อน แกลบดำ และปุ๋ยหมักร่อนหรือปุ๋ยมูลไส้เดือน อย่างละ 1 ส่วน ผสมคลุกเคล้ากัน จากนั้นนำมาใส่ลงในถาดเพาะหรือกระถางขนาเล็ก แล้วเพาะเมล็ดมะเขือเทศลงไป รดน้ำให้ชุ่ม วางถาดเพาะเมล็ดในที่ร่ม รดน้ำเช้า-เย็น เมื่อต้นกล้ามีอายุ 7 วัน ให้นำออกไปวางบริเวณที่ได้รับแสงแดดเต็มที่และรดด้วยน้ำผสมจุลินทรีย์สังเคราะห์แสง เพื่อปรับสภาพต้นกล้าให้แข็งแรง เมื่อต้นกล้ามีอายุประมาณ 30 วันก็ย้ายปลูกลงแปลงหรือลงกระถาง

ปลูกมะเขือเทศ

การปลูกลงแปลง

  1. เตรียมหลุมปลูกขนาดอย่างน้อย 2 เท่าของขนาดตุ้มดินต้นกล้า รองก้นหลุมด้วยมูลนกกระทาหรือมูลไก่หมักประมาณ 1-2 กิโลกรัมต่อหลุม แล้วกลบดินหนา 1 นิ้ว
  2. ใส่มูลไส้เดือน ขี้เถ้าไม้ฟืน แร่ฟอสเฟต อย่างละ 1 กำมือ และชีวภัณฑ์ป้องกันโรคแอนแทรคโนสแบบผงประมาณ 2 ช้อนชา (หรือตามคำแนะนำบนบรรจุภัณฑ์)
  3. วางต้นกล้าลงปลูก กลบดินให้มิดตุ้มดิน พร้อมทำค้างเพื่อช่วยพยุงต้น รดน้ำผสมจุลินทรีย์สังเคราะห์แสงจนดินแฉะในครั้งแรก แล้วรดน้ำตามปกติในวันถัดไป
  4. เมื่อต้นมีอายุ 3-4 สัปดาห์จะเริ่มผลิดอกออกผล สามารถทยอยเก็บผลเมื่อเริ่มสุกประมาณหนึ่งในสามแล้วเก็บในตู้เย็น จะเก็บได้นานกว่าเก็บผลสุกทั้งผล
ปลูกมะเขือเทศ
มะเขือเทศชอบความชื้นแต่ไม่แฉะ ให้น้ำวันละครั้งก็เพียงพอ ในช่วงที่ต้นเจริญเติบโตประมาณต้นละ 1 ลิตร และให้น้ำวันเว้นวันเมื่อมะเขือเทศเริ่มให้ผลผลิตควรเพื่อป้องกันผลแตก

การปลูกในกระถาง

เหมาะสำหรับผู้ที่มีพื้นที่จำกัดหรือไม่มีที่ดินในการทำแปลงปลูก โดยเฉพาะเมื่อต้องการปลูกเพื่อบริโภคภายในครัวเรือน การปลูกมะเขือเทศแนะนำให้ใช้กระถางปลูกขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 12 นิ้วขึ้นไป

  1. วัสดุปลูกที่ใช้ ได้แก่ ปุ๋ยหมัก 3 ส่วน ผสมคลุกเคล้ากับกาบมะพร้าวสับ 1 ส่วน
  2. เติมวัสดุปลูกลงกระถาง ใส่ปุ๋ยมูลไส้เดือน ขี้เถ้าไม้ฟืน แร่ฟอสเฟต อย่างละ 1 กำมือ และชีวภัณฑ์ป้องกันโรคแอนแทรคโนสแบบผงประมาณ 2 ช้อนชา (หรือตามคำแนะนำบนบรรจุภัณฑ์)
  3. วางต้นกล้าลงปลูก กลบวัสดุปลูกให้มิดตุ้มดิน พร้อมทำค้างเพื่อช่วยพยุงต้น รดน้ำผสมจุลินทรีย์สังเคราะห์แสงจนดินแฉะในครั้งแรก แล้วรดน้ำตามปกติในวันถัดไป
  4. เมื่อต้นมีอายุ 3-4 สัปดาห์จะเริ่มผลิดอกออกผล สามารถทยอยเก็บผลเมื่อเริ่มสุกประมาณหนึ่งในสามแล้วเก็บในตู้เย็น จะเก็บได้นานกว่าเก็บผลสุกทั้งผล

การดูแลอื่นๆ 

– การดูแลโดยทั่วไปรดน้ำวันละครั้ง ประมาณ 1 ลิตรต่อต้น

– หากเตรียมดินดีตั้งแต่แรกก็แทบไม่ต้องใส่ปุ๋ยเพิ่ม เพราะมูลสัตว์ปีก เช่น มูลนกกระทา มูลไก่หมัก มีธาตุอาหารฟอสฟอรัสและโพแทสเซียมซึ่งมะเขือเทศต้องการสูง ช่วยให้ออกดอกติดผลและผลมีรสชาติดี

– มะเขือเทศเป็นพืชที่ต้องการธาตุแคลเซียมสูง อาจให้ปุ๋ยทางใบทุก 15 วัน เพื่อเสริมธาตุอาหารรองและธาตุอาหารเสริม เพิ่มความแข็งแรงให้ต้นด้วยก็ยิ่งดี

– หากไม่ทำค้างหรือไม้หลัก อาจใช้เชือกช่วยพยุงต้นก็ได้ (คล้ายการพยุงต้นเมลอน) โดยเริ่มโยงเชือกเมื่อต้นมะเขือเทศสูงประมาณ 30 เซนติเมตร หรือสังเกตว่าต้นเริ่มเอนล้มก็ได้

วิธี ปลูกมะเขือเทศ วิธี ปลูกมะเขือเทศ วิธี ปลูกมะเขือเทศ

โรคแมลงศัตรูและการป้องกันในการ ปลูกมะเขือเทศ

วิธีป้องกันศัตรูพืชที่ดีที่สุดต้องเริ่มตั้งแต่เตรียมดิน โดยเฉพาะการปลูกกลางแจ้งซึ่งมักมีโรคและแมลงหลบพักอยู่ทั่วไป แม้ว่าการปลูกแต่ละครั้งจะเกิดความเสียหายบ้างก็ถือเป็นเรื่องธรรมดา แต่จะทำอย่างไรให้เสียหายน้อยที่สุด

คุณกัมปนาทเลือก ปลูกมะเขือเทศ ในแปลงกลางแจ้งช่วงฤดูหนาว ซึ่งเป็นช่วงที่เหมาะกับการปลูกพืชผักนานาชนิด แต่สำหรับผู้ปลูกที่มีโรงเรือนกันฝน สามารถนำเทคนิคการปลูกและดูแลมะเขือเทศไปปรับใช้ได้ตลอดทั้งปี โดยเน้นใช้สารชีวภัณฑ์ในทุกขั้นตอนการปลูก เพื่อสร้างภูมิต้านทานให้แก่พืช

ปลูกมะเขือเทศ
คุณกัมปนาท เนตรภักดี

มะเขือเทศมักพบโรคใบจุด โรคโคนเน่า ผลเน่า และโรคแอนแทรคโนส สามารถใช้ชีวภัณฑ์ป้องกันโรคแอนแทรคโนสแบบผงที่มีจำหน่ายทั่วไป โรยบริเวณโคนต้นทุก 15 วัน

แมลงศัตรูที่พบมาก ได้แก่ เพลี้ยไฟ แมลงหวี่ขาว และหนอนเจาะผล แนะนำให้ใช้ทั้งเชื้อราเมธาไรเซียม (Metarrhizium anisopliae) เชื้อราบิวเวอเรีย (Beauveria bassiana) เชื้อราพาซิโลมัยซิส ไลลาซินัส (Paecilomyces lilacinus) และแบคทีเรียบีที (Bacillus thuringiensis) ในการป้องกันกำจัด การใช้สารชีวภัณฑ์เหล่านี้ ให้มีประสิทธิภาพขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น เทคนิคการใช้ ช่วงเวลาที่ใช้ อุณหภูมิ ความชื้น แสงแดด การเก็บรักษาชีวภัณฑ์ ฯลฯ ทั้งยังมีผู้ผลิตและจำหน่ายสารชีวภัณฑ์หลายราย ราคาและคุณภาพก็แตกต่างกัน ก่อนใช้จึงควรศึกษาให้ละเอียด

เรื่อง  อังกาบดอย

ภาพ  ธนกิตติ์ คำอ่อน, กัมปนาท เนตรภักดี

 

เทคนิคปลูกมะเขือเทศ ให้อร่อยและออกผลเยอะ

ปลูกผักเหล่านี้ควรเว้นระยะให้ห่างกัน!

รู้ทันโรคพืชและเทคนิคดูแลสุขภาพต้นไม้ด้วยตัวเองอย่างง่าย ๆ

อัปเดตข่าวสารงานเกษตรทำฟาร์มได้ที่บ้านและสวน Garden&Farm

วิธีปลูกมะเขือเทศ