ปลูกเลม่อนขาย ผลดกงาม ทำได้จริงในไทย

หลายคนเข้าใจว่า ปลูกเลม่อน เป็นเรื่องยาก เมืองไทยเป็นเมืองร้อนปลูกไม่ได้  ปลูกแล้วไม่ออกผลบ้างล่ะ แต่เมื่อได้มาเยือนที่แห่งนี้ ไร่พสุธารา : Pasutara และได้พูดคุยกับเจ้าของคือ  คุณอ้อย –ดรุณี วัฒน์นครบัญชา และคุณโม-ทันตแพทย์นพพร โตเกษร ทำให้ได้รู้ว่า เมืองไทยก็ปลูกเลมอนมีคุณภาพได้เหมือนกัน

คุณอ้อยเล่าว่า จุดเริ่มต้นการ ปลูกเลม่อน มาจากเมื่อสิบกว่าปีมาแล้ว คุณอ้อยป่วยเป็นโรคภูมิแพ้ตัวเอง แต่ปฏิเสธการรักษาด้วยยาสเตรียรอยด์ และดูแล ฟื้นฟูร่างกายด้วยธรรมชาติบำบัด หลังจากป่วย 3 ปี มาซื้อที่ดินที่สวนผึ้ง ตอนแรกไม่ได้สนใจอะไร แต่พอเห็นลำธารน้ำที่ยาวสี่ถึงห้าร้อยเมตร เลยชอบและตัดสินใจซื้อทันที  และเริ่มจากการปลูกเลม่อน เพื่อนำมาบริโภค และต้องการดูแลสุขภาพตนด้วยธรรมชาติบำบัด ซึ่งปกติคุณอ้อยจะสั่งซื้อเลม่อนจากต่างประเทศ

ปลูกเลม่อน

คุณอ้อยไม่มีความรู้เรื่องการเกษตรใดๆ ก็หาข้อมูลเบื้องต้นด้วยตัวเอง โดยเริ่มจากฟื้นฟูสภาพดิน เดิมเป็นพื้นที่ปลูกมันสำปะหลัง ซึ่งเป็นดินทรายที่ไม่อุ้มน้ำไม่มีอินทรียวัตถุ แห้งแล้งมาก  ก็ปลูกไม้ต้นใหญ่มากขึ้นเรื่อยๆ และเริ่มปลูกเลม่อน ซึ่งเป็นพืชที่ชอบ

ปลูกเลม่อน

“ช่วงแรกที่เริ่มปรับสภาพพื้นที่และปลูกเลม่อน ตอนนั้นปลูกไว้เพียง 20-30 ต้น คนงานก็ฉีดยาฆ่าหญ้าให้ ปรากฏว่า ยาฆ่าหญ้าฉีดไปโดนต้นเลมอน ทำให้เป็นรอยไหม้ครึ่งต้น หลังจากนั้นเลยปฏิเสธการใช้สารเคมีใดๆ ไม่ว่าจะเป็นปุ๋ยเคมี ยาฆ่าหญ้า เน้นการใช้อินทรียวัตถุเพียงอย่างเดียว ปีแรกผลผลิตที่ออกมาขี้เหร่มาก เป็นเพลี้ยไฟ ผลกระดำกระด่าง พอรุ่นต่อไป ก็ดีขึ้น เพราะเราก็ใช้สมุนไพรสูตรเฉพาะของสวนเรา”

เมื่อพื้นที่มีความอุดมสมบูรณ์ขึ้น คุณอ้อยจึงวางแผนธุรกิจในพื้นที่แห่งนี้ โดยตั้งใจให้เป็นจุดท่องเที่ยงของอำเภอสวนผึ้ง และตั้งชื่อว่า “พสุธารา”

“เรามีพื้นดิน และมีธารน้ำในพื้นที่ คือคำว่า ธารา ก็เลยรวมกันเป็นพสุธาราค่ะ”

เลม่อน

ช่วงแรกคุณอ้อยทำโรงเรือนปลูกผักสลัดไว้จำหน่าย และใช้ในร้านอาหาร และขายผักสลัดในร้าน แต่สุดท้ายก็เปลี่ยนมาปลูกสมุนไพรฝรั่งพวก โรสแมรี่ ออริกาโน ไธม์ และเลม่อนจนถึงปัจจุบัน คุณอ้อยนำพืชสมุนไพรเหล่านี้มาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ  ที่สำคัญคือ คุณอ้อยได้นำกากของโรสแมรี่ที่เหลือจากการสกัดน้ำมันหอมระเหยมาใช้เป็นสมุนไพรไล่แมลงในสวน

ปลูกเลม่อน
ปลูกเลม่อน

“เรามีกากโรสแมรี่เยอะมาก และมีคนมาขอซื้อ แต่เราไม่ได้ขายก็เก็บไว้เป็นกอง สุดท้ายเลยทดลองดูว่าจะช่วยไล่แมลงได้หรือไม่ ก็ให้คนงานเอากากมากองๆ ในสวนเลม่อน กระจายไปทั่ว แล้วสุมไฟให้มีควันช่วงเย็นๆ  ปรากฏว่าได้ผลดีมาก เพลี้ยไฟในสวนลดลง ดูจากผลเลมอนสวยงามขึ้น ไม่ขี้เหร่เหมือนรุ่นแรก”

พันธุ์เลม่อน

คุณอ้อยทดลองปลูกเลม่อนเรื่อยมาด้วยการ สั่งพันธุ์จากต่างประเทศมาปลูก สำหรับพันธุ์ที่ขึ้นชื่อและนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ คือ พันธุ์ยูเรก้า ลิสบอน ลิบโป้ และเมเยอร์ รวมทั้งพันธุ์ยูเรก้าใบด่างที่ปลูกเป็นไม้ประดับได้สวยงาม จนถึงปัจจุบันสวนพสุธารานับเป็นแหล่งรวมพันธุ์และแหล่งผลิตเลม่อนที่มีคุณภาพแห่งหนึ่งของเมืองไทย นับเป็นไร่ต้นๆ ในเมืองไทย ที่ปลูกเลม่อนอย่างจริงจัง

พันธุ์เลม่อน
พันธุ์ลิสบอน ผิวขรุขระเป็นเอกลักษณ์
พันธุ์เลม่อน
พันธุ์ยูเรก้า ทรงผลคล้ายคล้ายลิสบอนแต่ผิวขรุขระน้อย
พันธุ์เลม่อน
พันธุ์อัสสัม เป็นพันธุ์ที่คุณอ้อยชอบมาก เพราะมีกลิ่นหอมมาก
วิธีปลูกเลม่อน
พันธุ์อิมพรู๊ฟเมเยอร์ ผลคล้ายส้ม กลิ่นไม่หอมเท่าพันธุ์อื่น
ปลูกเลม่อน
พันธุ์ยูเรก้าใบด่าง
โหลหมักเลม่อนสไลด์แช่ในน้ำผึ้ง ผลิตภัณฑ์ยอดนิยมของที่นี่
เลม่อน

คุณอ้อยเล่าว่า “เมื่อได้ทดลอง ลองผิดลองถูกจนรู้วิธีเราก็ปลูกเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนตอนนี้มีเป็นพันต้น มีทั้งต้นที่ได้จากการเสียบยอด และกิ่งตอน  ซึ่งกิ่งตอนจะให้ผลผลิตเร็ว แต่ระบบรากอาจไม่แข็งแรงเท่าต้นที่ได้จากการเสียบยอด พอต้นใหญ่ขึ้น ก็จะให้คนงานตอนกิ่ง ขยายพันธุ์ไปเรื่อยๆ และปลูกไว้จำหน่ายทั้งต้นพันธุ์ และต้นใหญ่ที่ขายเป็นไม้ล้อม ซึ่งใช้จัดสวนได้สวยเลยค่ะ”

พันธุ์เลม่อน
เลม่อนทุกต้นจะค้ำด้วยไม้เพื่อให้ได้ทรงพุ่มที่สวยงามแข็งแรง
ปลูกเลม่อน
วิธีขยายพันธุ์เลม่อนด้วยการตอนกิ่ง จะช่วยให้ได้ผลผลิตเร็ว
วิธีปลูกเลม่อน
เลม่อนผลิดอกได้ตลอดปี เป็นดอกสมบูรณ์เพศ ดอกขนาดใหญ่และมีกลิ่นหอม
พันธุ์เลม่อน
พันธุ์เลม่อน

“อยากฝากถึงทุกคนว่า ต้องปลูกไว้สักบ้านละต้นจะได้ไม่ต้องซื้อมาทาน เพราะเลม่อนปลูกเลี้ยงง่าย ให้ผลดก ที่สำคัญผลเลมอนมีประโยชน์กับร่างกายดีมาก ทั้งเปลือก และน้ำเลมอน ที่นำมาประกอบอาหารแทนมะนาวได้เลย   สำหรับมือใหม่ก็ปลูกพันธุ์ยูเรก้า ลิสบอน รับรองว่าให้ผลดกตลอดปี แต่ที่สำคัญ คือพื้นที่ปลูกต้องมีแสงจัด ไม่ร่ม  ดินมีอินทรียวัตถุ และระบายน้ำดี หมั่นให้ปุ๋ยคอกทุก 3 เดือน แค่นี้ก็จะได้เลมอนไว้ทานในครอบครัวไม่ขาด พร้อมด้วยสุขภาพดีอย่างแน่นอนค่ะ” คุณอ้อยกล่าวทิ้งท้าย

ขอบคุณ คุณดรุณี วัฒน์นครบัญชา และทันตแพทย์นพพร โตเกสร แห่ง ไร่พสุธารา 

Facebook : Pasutara พสุธารา

Website : https://www.pasutara.com/

เรื่อง : วิฬาร์น้อย

ภาพ : สิทธิศักดิ์ น้ำคำ

เคล็ด (ไม่) ลับ ปลูกมะเขือเทศแฟนซี แบบไร้สารเคมี

วิธีปลูกราสป์เบอร์รี่ ในเมืองไทยก็ปลูกได้ ด้วยเทคนิคที่ง่ายกว่าที่คิด