การทำเกษตรให้ประสบความสำเร็จ ธรรมชาติถือหุ้นเป็นทุนไปแล้วเกินกว่าครึ่ง ใคร ๆ จึงต่างปรามาสว่าพื้นที่นาข้าวภาคอีสานนั้นปลูกผลไม้ไม่ได้กิน เนื่องจากปัญหา ดินเค็ม และความแห้งแล้ง
กระทั่งเราได้มาเยือนสวนลุงโหนกนานาพรรณของ ดร.จตุพร เทียรมา อาจารย์ประจำคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ในตำบลเขวา อำเภอเมืองฯ จังหวัดมหาสารคาม ทำให้เข้าใจว่า หากเราสามารถจัดการที่ดินจนเกิดความสมดุลได้ ไม่ว่าพื้นที่นั้นจะมีปัญหาแบบไหน ก็ย่อมปรับให้การทำเกษตรนั้นแข็งแกร่งและสำเร็จได้เช่นกัน
อาจารย์จตุพรได้นำความรู้เกี่ยวกับการทำหน้าที่และการให้บริการของระบบนิเวศมาผนวกเข้ากับระบบการทำเกษตรของตัวเอง ในพื้นที่ขนาด 8 ไร่ของสวนลุงโหนกนานาพรรณจึงเปรียบเสมือนห้องทดลองขนาดใหญ่ ซึ่งเน้นการจัดองค์ประกอบของพื้นที่แปลงเกษตรทั้งด้านกายภาพและชีวภาพ เพื่อให้สอดคล้องกับการทำหน้าที่ของระบบนิเวศ ก่อเกิดเป็นสวนเกษตรที่ยั่งยืนในอนาคต
“ที่ดินแปลงนี้ผมซื้อตอนอายุ 38 ปี ทยอยขุดสระน้ำ สร้างบ้านพัก ปรับพื้นที่ ปรับปรุงดิน ปลูกพืชผลต่าง ๆ ทำมาได้ 7 ปีแล้ว และตั้งเป้าหมายว่าเมื่อผมอายุ 55 ปี ระบบนิเวศในแปลงเกษตรนี้ต้องสมบูรณ์แบบ นั่นคือเกิดความสมดุล ซึ่งเราจะได้เห็นการเติบโตของต้นไม้ จุลินทรีย์ธรรมชาติ และพืชพรรณต่าง ๆ ที่ปลูกไว้ ให้ธรรมชาติช่วยดูแลกันเอง เช่นเดียวกับระบบนิเวศของป่า”
จากผืนนาจึงถูกปรับเปลี่ยนเป็นสวนผสมผสาน มีการวางแผนไว้ว่าพื้นที่ตรงไหนจะปลูกอะไร ตรงไหนจะเป็นนาข้าว ตรงไหนจะขุดสระน้ำ ตรงไหนจะปลูกไม้ผลหรือสร้างบ้านพัก โดยเตรียมความพร้อมด้านพื้นที่อย่างค่อยเป็นค่อยไป เพราะสภาพกายภาพของที่ดินแปลงนี้เป็นที่เนิน
“ดินที่นี่เป็นดินเค็ม ขุดสระลึกลงไปแค่สามเมตรครึ่งก็เจอน้ำเค็มผุดขึ้นมาแล้ว จำเป็นต้องใช้น้ำฝนในการทำเกษตร ดินเป็นดินเหนียวมากกว่าดินทราย เมื่อขุดสระจึงสามารถกักเก็บน้ำได้ดี ก่อนขุดสระผมศึกษาข้อมูลน้ำฝนที่ตกในพื้นที่ย้อนหลัง 30 ปี พร้อมวางแผนดูสภาพพื้นที่ ใช้พื้นที่ต่ำสำหรับกักเก็บน้ำ คำนวณการซึมของน้ำในดิน คำนวณปริมาณการใช้น้ำทั้งปีและจำนวนพืชพรรณที่ปลูกทั้งหมดในแปลงเกษตร 8 ไร่ เพื่อให้เกิดการหมุนเวียนธาตุอาหารในพื้นที่ผ่านน้ำที่เตรียมเอาไว้ให้มีปริมาณเพียงพอต่อการทำเกษตร”
“นอกจากนี้ยังทำร่องน้ำไว้รอบพื้นที่ซึ่งไปเชื่อมกับร่องระหว่างแถวที่ปลูกไม้ผล เจตนาในการทำร่องเพื่อใช้ผลิตอินทรียวัตถุต่าง ๆ โดยปล่อยให้ผักตบชวาและจอกหูหนูเจริญเติบโตแล้วนำขึ้นมาทำปุ๋ยพืชสด ขณะเดียวกันตะกอนอินทรียวัตถุที่อยู่ในร่องจะหนาขึ้นเรื่อย ๆ โดยตะกอนที่เกิดจากรากผักตบชวาที่ทับถมกันมีธาตุอาหารที่พืชต้องการ ทั้งไนโตรเจน แคลเซียม และโพแทสเซียมสูง ผมวางแผนไว้ว่าอีก 4-5 ปีจะลอกร่องสวนแล้วนำน้ำออกเพื่อขยายความกว้างของเนิน เราทำแบบนี้เพราะต้องการธาตุอาหารจากธรรมชาติที่หมุนเวียนกันในสวน เพื่อให้เกิดสมดุลในพื้นที่ สิ่งเหล่านี้ต้องวางแผนเป็นขั้นตอน”
นอกจากการสร้างระบบกักเก็บน้ำให้เพียงพอแล้ว ต้องปรับโครงสร้างดิน เพิ่มปริมาณอินทรียวัตถุและจุลินทรีย์ในดิน เพื่อให้เหมาะและเพียงพอต่อการปลูกพืชต่าง ๆ ด้วย
“ผมไม่ได้ใช้ดินจากภายนอกเลย ดินที่นำมาถมเป็นดินที่ได้จากการขุดสระน้ำ ก่อนหน้านี้หน้าดินมีคราบเกลือขาวเพราะเป็นดินเค็ม เหนียว และแน่นทึบมาก จึงทยอยปรับโครงสร้างของดินด้วยการปลูกพืชตระกูลถั่วและพืชไร่ที่มีระบบรากลึก เช่น ข้าวโพด โดยไม่ได้สนใจว่าจะได้ฝักเยอะไหม เพราะต้องการให้รากข้าวโพดช่วยทะลุทะลวงดิน อีกทั้งต้นของมันยังเป็นอินทรียวัตถุปรับปรุงโครงสร้างทางกายภาพของดินด้วย”
“การปรับปรุงดินบริเวณที่ปลูกไม้ผล ผมทำจากโคนต้นออกมาทีละน้อยเพราะไม่ต้องการลงทุนเยอะ โดยเริ่มจากการปลูกถั่วพร้า ปลูกเป็นวงออกมาเรื่อย ๆ ซึ่งสังเกตพบว่าระบบรากของถั่วพร้าชอนไชดินจนเป็นรูพรุน ทำให้รากไม้ผลที่ปลูกไว้หยั่งลึกได้ดี นอกจากนี้ยังให้ปุ๋ยพืชสดจากวัชพืช ผักตบชวา และจอกหูหนูที่เจริญเติบโตในร่องสวน เอาขึ้นมากองทับถมกันบริเวณโคนต้น ใช้เวลาประมาณ 2 เดือนก็ย่อยสลายหมด ร่วมกับให้ขี้วัว จากดินเค็มที่ทั้งเหนียวและแน่นทึบก็กลายเป็นพอใช้ได้แล้ว”
หลังจากซื้อที่ดิน อาจารย์จตุพรทำนาถึง 3 ปี ก่อนที่จะเป็นร่องสวนเพื่อวางแผนการจัดการแปลง และทดสอบว่าพืชชนิดใดปลูกได้ดี อะไรปลูกไม่ได้ โดยเฉพาะไม้ผลเพื่อเลือกปลูกพืชให้เหมาะสม ส่วนการทำนาเหลือพื้นที่แค่ 2 ไร่สำหรับปลูกข้าวแค่พอกินในครอบครัว
“ผมเน้นปลูกไม้ผลเพราะมองว่ามันเป็นพืชที่สามารถดูแลตัวเองได้และเราไม่ต้องใช้แรงเยอะเมื่อถึงวันที่ต้องเกษียณ ในสวนจึงมีไม้ผลปลูกแซมตามแผนผังที่ออกแบบไว้ วางแผนแล้วว่าพื้นที่ตรงไหนจะปลูกอะไร โดยแบ่งการปลูกเป็นโซน ค่อย ๆ ปลูกปีละ 1-2 งาน ทยอยปลูกตามที่มีเวลา สำหรับส้มโอผมสั่งซื้อกิ่งพันธุ์ส้มโอทับทิมสยามจากภาคใต้มาทดสอบปลูกเมื่อ 6 ปีที่แล้ว เพื่อดูว่าการเจริญเติบโตเป็นอย่างไร ให้ผลผลิตไหม พอปลูกปีที่ 3 ออกผล ก็รอดูอีก 1 ปีว่าผลที่ได้มีคุณภาพหรือไม่ เมื่อได้ผลน่าพอใจและนึกหลายเหตุผล จึงเลือกปลูกส้มโอทับทิมสยามเป็นพืชไม้ผลหลักเพื่อสร้างรายได้ในอนาคต หลังจากเลือกแล้วจึงทำระบบร่องสวน ยกร่องแปลงนาขึ้นเพื่อปลูกส้มโอ ค่อย ๆ ขยายทำไปทีละน้อยเพราะไม่ได้จ้างแรงงาน และใช้เวลาว่างจากงานประจำมาทำสวน ต้นส้มโอที่เห็นส่วนใหญ่จึงเพิ่งอายุ 2 ปี แต่ก็เจริญเติบโตได้ดี เพราะน่าจะปรับตัวเข้ากับดิน น้ำ และสภาพแวดล้อมที่นี่ได้”
“หลักการทำสวนเกษตรของผมคือไม่ใช้ปุ๋ยและสารเคมี ใช้แค่ปุ๋ยคอกและอินทรียวัตถุจากพืชในสวน ทยอยปรับปรุงดินไปเรื่อย ๆ พร้อมเสริมโคนต้นเพื่อป้องกันโรค การควบคุมโรคเน้นใช้จุลินทรีย์ปฏิปักษ์ เช่น ใส่เชื้อราไตรโคเดอร์มาในช่วงต้นฝนและต้นหนาวเพื่อป้องกันโรคโคนเน่า เราไม่ได้ใช้เคมีจึงต้องดูแลเอาใจใส่มากหน่อย บางต้นที่มีอาการโรคโคนเน่าเก่าแต่แก้ไขได้แล้วก็เอาปูนแดงมาทา ไม่เช่นนั้นมันจะมีน้ำยางไหลออกมาตามเปลือกโคนต้น”
“การใส่ไตรโคเดอร์มาทำในช่วงเย็นโดยโรยรอบโคนต้น ต้นละ 1 ถุง จากนั้นโรยทับด้วยขี้วัวบาง ๆ กลบด้วยผักตบชวาที่ย่อยสลายแล้ว แล้วรดน้ำตาม ในช่วงหน้าฝนต้องกลบให้ห่างโคนต้นเพื่อป้องกันดินบริเวณโคนต้นเพื่อรักษาความชื้น การจัดการแปลงแต่ละช่วงต้องพิจารณาจากสภาพแวดล้อมแล้วจัดการให้สมดุล”
“สำหรับการป้องกันกำจัดแมลง ใช้เมล็ดสะเดาสกัดด้วยแอลกอฮอล์ฉีดพ่นในช่วงต้นฤดูฝนเพราะพบการระบาดในช่วงนั้น หรือฉีดพ่นเฉพาะจุดในช่วงที่ต้นเริ่มแตกยอดก็ได้ แมลงศัตรูจะไม่ตายในทันที แต่จะค่อย ๆ ลดจำนวนลง ตั้งแต่ผมเริ่มปลูกส้มโอในพื้นที่นี้ไม่มีใครเชื่อว่าจะปลูกได้ จนตอนนี้เริ่มเห็นผลแล้วว่าหากมีการวางแผนเตรียมพื้นที่ให้ดี เลือกพืชปลูกที่เหมาะสมกับสภาพดินและสิ่งแวดล้อม ก็สามารถเห็นผลดีได้ ส่วนโรคโคนเน่าที่ยังพบนั่นแสดงว่าในดินของเรายังไม่สมดุล ก็ต้องค่อย ๆ ปรับกันไป แต่แนวโน้มเป็นไปด้วยดี เพราะถือว่าเราพบโรคน้อยมากเมื่อเทียบกับการใช้สารเคมี”
“การทำเกษตรของผมมองภาพในระยะยาว เน้นให้เกิดความสมดุลในพื้นที่ ให้ธรรมชาติเกื้อกูลกันและกัน เพราะเป้าหมายคือสุดท้ายแล้วเราจะต้องไม่ทำอะไรให้เหนื่อยหนัก ในแต่ละปีจะต้องทำงานให้น้อยลงเรื่อย ๆ ไม่ใช่ทำงานเท่าเดิมหรือมากขึ้น แต่ใช้การบริการของระบบนิเวศเข้ามาช่วย อย่างไรก็ตาม เราไม่สามารถสร้างระบบนิเวศให้เกิดขึ้นได้ในทันที แต่ต้องใช้เวลาศึกษาแล้วค่อยๆ เรียนรู้ ค่อย ๆ ปรับปรุง ค่อย ๆ ปลูกพืชผักไม้ผล ฉะนั้นจึงต้องทำสิ่งเหล่านี้เตรียมไว้ตั้งแต่ในช่วงวัยที่ยังมีแรง เพราะเมื่ออายุมากขึ้นหรือถึงวัยเกษียณแล้วอาจจะทำไม่ไหว” แก้ดินเค็ม