ปลูกกัญชาในโรงเรือนอัจฉริยะแบบ Smart Farming คณะนวัตกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยรังสิต

แนวทางการ ปลูกกัญชา ในโรงเรือน หลังจากที่มีการปลดล็อกกัญชาและกัญชง (พืชสกุล Cannabis) หลายคนอาจสงสัยว่าจะสามารถขออนุญาต ปลูกกัญชา ได้หรือไม่ เรามีคำตอบจาก รศ.ดร.บัญญัติ เศรษฐฐิติ คณบดีคณะนวัตกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยรังสิต ซึ่งเดินหน้าพัฒนากัญชาทางการแพทย์

ทั้งระบบการปลูกและสายพันธุ์พร้อมนำชมสถานีทดลองวิจัยกัญชาทางการแพทย์ การ ปลูกกัญชา ในโรงเรือน ถือเป็นอีกหน่วยงานหนึ่งที่ได้รับอนุญาตปลูกและวิจัยกัญชาทางการแพทย์ ซึ่งมีการปฏิบัติตามขั้นตอนของกฎหมายทุกประการ

บริเวณดาดฟ้าอาคารชั้น 5 คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต มีโรงเรือนอัจฉริยะ (Smart Greenhouse) ซึ่งปลูกและวิจัยกัญชาทางการแพทย์ในระบบปิดสามารถควบคุมระบบน้ำ ปุ๋ย และสภาพอากาศได้โดยติดตั้งหลอดไฟแอลอีดีปลูกต้นไม้ทำให้สามารถควบคุมชั่วโมงการรับแสงของต้นกัญชา เพื่อให้ต้นได้รับความเข้มแสงและความยาวคลื่นแสงที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตแต่ละช่วง ไม่ว่าจะเป็นช่วงพัฒนาพุ่มต้นหรือการผลิตดอกให้ได้สารออกฤทธิ์ทางการแพทย์ที่มีคุณภาพ เนื่องจากกัญชาเป็นพืชฤดูเดียวและเป็นพืชวันสั้น (Short-day Plant) การอาศัยแสงเทียมเช่นนี้จึงบังคับให้กัญชาออกดอกเมื่อไหร่ก็ได้ ใน 1 ปีจึงสามารถปลูกได้หลายรอบ

ปลูกกัญชา ในโรงเรือน

เกร็ดน่ารู้ :กัญชาเป็นพืชวันสั้นจะออกดอกเมื่อได้รับแสงในช่วง 24 ชั่วโมง (1 วัน) ต่ำกว่าความยาววิกฤต (Critical Day-length) ของพืชนั้น กัญชาที่ปลูกในสถานีทดลองวิจัยกัญชาทางการแพทย์มหาวิทยาลัยรังสิต มีความยาววันวิกฤต 12 ชั่วโมง หมายความว่ากัญชาชนิดนี้จะออกดอก (Reproductive Growth) ก็ต่อเมื่อได้รับแสงน้อยกว่า 12 ชั่วโมง/วัน และถ้าได้รับแสงมากกว่า 12 ชั่วโมง/วัน กัญชาจะไม่ออกดอก แต่จะมีการเจริญทางลำต้นและใบแทน ( Vegetative Growth)

นอกจากนี้ยังควบคุมอุณหภูมิโดยใช้เครื่องปรับอากาศ เพื่อให้อากาศเหมาะสมกับการเจริญเติบโต โดยอุณหภูมิที่เหมาะสมสำหรับปลูกกัญชาอยู่ที่ 27 องศาเซลเซียส และสามารถควบคุมความชื้น ป้องกันการเกิดเชื้อราได้เป็นอย่างดี ทั้งยังปลอดภัยจากแมลงศัตรูพืชเป็นอย่างมาก เพราะระบบปิดทำให้แมลงไม่สามารถเข้ามารบกวนต้นกัญชาได้

ปลูกกัญชา ในโรงเรือน

ด้านเทคนิคการปลูก ใช้เทคนิคปลูกพืชโดยไม่ใช้ดินหรือไฮโดรโปนิกส์ จึงปลอดภัยจากสารปนเปื้อน โลหะหนัก โรคและแมลงศัตรูต่าง ๆ ที่มากับดินมีการพัฒนารูปแบบโดยปลูกในกระถาง 2 ชั้น ใช้เพอร์ไลท์ผสมเวอร์มิคูไลท์เป็นวัสดุปลูกช่วยพยุงต้นกัญชาให้มั่นคง และให้ระบบน้ำแบบสปาราก โดยรากของต้นกัญชาจะแช่อยู่ในน้ำที่มีส่วนผสมของธาตุอาหารในอัตราส่วนที่ต้นกัญชาต้องการ และมีการเติมอากาศในสารละลายธาตุอาหารตลอดเวลา เพื่อให้รากได้รับออกซิเจนอย่างเพียงพอ ทำให้ต้นกัญชาเจริญเติบโตและให้ผลผลิตสูง

ปลูกกัญชา ในโรงเรือน
ปลูกกัญชา ในโรงเรือน

นอกจากนี้ยังมีการศึกษาวิจัยและพัฒนาสูตรสารละลายธาตุอาหารพืชไฮโดรโปนิกส์ของกัญชาร่วมกับระบบปลูกกัญชาด้วยระบบน้ำแบบสปาราก ทำให้ได้กัญชาทางการแพทย์ คือ ดอกกัญชามีคุณภาพและปริมาณผลผลิตสม่ำเสมอ เพื่อส่งต่อไปยังวิทยาลัยเภสัชศาสตร์ในการผลิตเป็นยาที่ดี

ปลูกกัญชา ในโรงเรือน

ระบบควบคุมภายในโรงเรือนต่าง ๆ ได้รับความร่วมมือจากคณาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ วิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ในการพัฒนาแอปพลิเคชันสั่งการระบบผ่านคอมพิวเตอร์และสมาร์ทโฟน จึงช่วยควบคุมสภาพแวดล้อมในการปลูกได้แบบเรียลไทม์และมีประสิทธิภาพ

ปลูกกัญชา ในโรงเรือน

คณะนวัตกรรมเกษตร ร่วมกับ ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ ร่วมกันติดตั้งระบบตรวจวัด pH ในระบบปลูกกัญชาแบบสปาราก เพื่อให้รากกัญชาสามารถดูดธาตุอาหารไปใช้ประโยชน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ หากค่า pH ของสารละลายต่ำกัญชาจะดูดธาตุอาหารพวกฟอสฟอรัส (P) โพแทสเซียม (K) แคลเซียม (Ca) และแมกนีเชียม (Mg) ได้น้อยลง ขณะเดียวกันหากค่า pH ของสารละลายสูงจะทำให้กัญชาดูดธาตุอาหารพวกเหล็ก (Fe) สังกะสี (Zn)ทองแดง (Cu) และแมงกานีส (Mn) ได้น้อยลง ซึ่งค่า pH ที่เหมาะกับการปลูกกัญชาคือ5.5 – 6.5 ทั้งนี้ควรศึกษาค่า pH ที่เหมาะสมของแต่ละสายพันธุ์

สำหรับใครที่เห็นโอกาสทางธุรกิจในการปลูกกัญชา ไม่ว่าจะเป็นเกษตรกร ร้านอาหาร ผู้ประกอบการ ฯลฯ ควรมีความรู้เรื่องการขออนุญาตปลูกอย่างถูกต้องตามกฎหมาย พร้อม ๆ กับใคร่ครวญว่าการปลูกกัญชาเป็นเพียงกระแสหรือไม่

ปลูกกัญชา ในโรงเรือน

ลักษณะทั่วไปของกัญชา

กัญชามีถิ่นกำเนิดในทวีปเอเชีย เป็นไม้ล้มลุกอายุปีเดียว ต้นสูงได้ถึง 2 เมตร ทุกส่วนมีขนปกคลุม ใบรูปฝ่ามือ ขอบใบหยักเว้าลึก ใบย่อยเล็ก 5-7 ใบ แต่ละใบย่อยเรียวยาว ขอบใบจักฟันเลื่อย สีเขียวเข้มลักษณะของใบโดยรวมจะคล้ายกับใบของต้นละหุ่ง ใบฝิ่นต้น และใบมันสำปะหลัง เป็นต้น

กัญชากับกัญชงเป็นพืชชนิดเดียวกัน (Cannabis) แต่จำแนกเป็นต่างชนิดย่อย โดยกัญชาหมายถึงชนิดย่อย indicaเรียกทั่วไปว่า Marijuana ส่วนกัญชงคือชนิดย่อย sativa หรือ Hemp กัญชาและกัญชงแบ่งเป็นสายพันธุ์ตามท้องถิ่นที่ปลูก แต่ละสายพันธุ์ก็มีปริมาณสัดส่วนของสารเคมีแตกต่างกันไป

กัญชามีลำต้นเตี้ย ทรงพุ่มฐานกว้าง แตกกิ่งก้านมาก แตกกิ่งแบบสลับ และมีปล้องหรือข้อสั้น เปลือกบาง ไม่เหนียว ลอกออกยาก และให้เส้นใยสั้นคุณภาพต่ำกว่าพืชกัญชงที่เน้นนำไปใช้ทำเส้นใย

ช่อดอกแยกเพศอยู่ต่างต้น ดอกเพศผู้เป็นช่อกระจุกออกตามซอกใบใกล้ปลายยอดอยู่ห่าง ๆ กัน ดอกเล็ก มีเกสรเพศผู้ 5 อัน ดอกเพศผู้มีความสำคัญด้านการสร้างสายพันธุ์กัญชาใหม่หรือรักษาสายพันธุ์เดิมการผสมพันธุ์ทำโดยตัดดอกเพศผู้ แยกเกสรออกมาผสมกับเกสรเพศเมียที่ต้องการ โดยต้องทำในห้องที่ไม่เกสรเพศผู้พันธุ์ปะปน หรือ Isolate Room

ช่อดอกเพศเมียออกเป็นกระจุกตามซอกใบและยอด แต่ละดอกมีใบประดับสีเขียวเข้มคล้ายกาบ และมีขนเป็นต่อมหุ้มอยู่ ไม่มีกลีบดอก มีรังไข่ 1 อัน
ผลรูปไข่หรือรูปรีเกลี้ยง มีใบประดับหุ้มอยู่ 2 ใบ เมล็ดแบบ achene ผิวเรียบเป็นมัน มีลายประสีน้ำตาล
ช่อดอกเพศเมียของกัญชาคือส่วนสำคัญที่นำมาใช้เพื่อสกัดเป็นยา โดยเรียกว่า “กะหลี่กัญชา” ตามคำว่า Curry เนื่องจากใช้ใส่ในแกงเพื่อให้มีรสชาติดีขึ้น

ทั้งกัญชาและกัญชงมีสารประกอบที่เรียกว่า แคนนาบินอยด์ (Cannabinoid) มากกว่า 60 ชนิด สารที่รู้จักกันดีคือสาร THC (Delta-9-Tetrahydrocannabinol)ซึ่งเป็นตัวออกฤทธิ์กับจิตประสาท และสารที่สำคัญอีกชนิดหนึ่งคือ CBD (Cannabidiol) ซึ่งช่วยยับยั้งการออกฤทธิ์ของ THC

ในส่วนต่าง ๆ ของกัญชา ไม่ว่าจะเป็นลำต้น ใบ ดอก หรือเมล็ด จะมีสารแคนนาบินอยด์ประกอบอยู่แตกต่างกัน การนำกัญชามาใช้รักษาโรคในปัจจุบันต้องสกัดสาร THC, CBD และแคนนาบินอยด์ตัวอื่น ๆ ออกมาจากต้นพืชก่อน นอกจากสารในกลุ่มแคนนาบินอยด์แล้ว ยังพบว่ามีสารกลุ่มฟลาโวนอยด์และสารกลุ่มเทอร์ปีนที่เป็นตัวเสริมการออกฤทธิ์ทางยากับสารกลุ่มแคนนาบินอยด์ได้ โดยเทอร์ปีนที่พบในสายพันธุ์กัญชาของแปลงปลูกสถานีทดลองวิจัยกัญทางการแพทย์คือ Myrceneซึ่งให้กลิ่นหอมคล้ายกับผลไม้สุก ปลูกกัญชา 2564

เมื่อนำใบมาปรุงอาหาร ใบกัญชาช่วยชูรสชาติอาหารให้กลมกล่อม อร่อยขึ้น แม้ร่างกายจะได้รับเพียงเล็กน้อย แต่ก็มีฤทธิ์ช่วยผ่อนคลาย ลดปวด ช่วยให้นอนหลับ และเจริญอาหาร หลังจากรับประทานแล้ว แต่ละคนจะมีความไวต่อสารเมาไม่เท่ากัน ดังนั้น การทำกัญชาเป็นอาหารจึงควรแบ่งตามคุณสมบัติของแต่ละคน

ปัจจุบัน ประชาชนทุกคนสามารถใช้ประโยชน์จากส่วนของกัญชาและกัญชงที่ไม่จัดเป็นยาเสพติดได้ แต่ต้องมาจากผู้ได้รับอนุญาตปลูกที่ถูกต้องตามกฎหมาย

การนำใบกัญชาไปประกอบอาหารหรือเครื่องดื่มสามารถทำได้ แต่สิ่งสำคัญที่ผู้ประกอบการร้านอาหารต้องทราบก็คือ ต้องซื้อกัญชามาจากแหล่งปลูกที่ได้รับอนุญาตจาก อย. เท่านั้น อาทิ วิสาหกิจชุมชนที่ปลูกร่วมกับหน่วยงานของรัฐ ซึ่งข้อมูลผู้ที่ได้รับอนุญาตปลูกกัญชาอย่างถูกต้องตามกฎหมายสามารถตรวจสอบได้ที่เว็บไซต์กองวัตถุเสพติด สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือที่ www.fda.moph.go.th/sites/Narcotics/Pages/Main.aspx เพื่อเป็นหลักฐานแสดงต่อเจ้าหน้าที่ตรวจสอบว่าวัตถุดิบที่นำมาปรุงอาหารนั้นได้รับการยืนยันมาจากแหล่งปลูกที่ถูกกฎหมาย ไม่ต้องขออนุญาตจาก อย.อีกแล้ว

“วิชากัญชาศาสตร์” เป็น 1 ใน 4 รายวิชาที่นักศึกษาจะได้เรียนในวิชาเลือก กลุ่มเทคโนโลยีการผลิตพืช และการจัดการผลิตผลเกษตร ซึ่งประกอบด้วยรายวิชาอื่นๆ เช่น วิชาเทคโนโลยีการผลิตกัญชาทางการแพทย์ วิชาเทคโนโลยีปรับปรุงพันธุ์กัญชาทางการแพทย์ และวิชาการปฏิบัติการปรับปรุงพันธุ์กัญชาทางการแพทย์ ไม่เฉพาะกับกัญชาเท่านั้น ยังครอบคลุมทั้งพืชสมุนไพรและพืชพลังงานทดแทนอีกด้วย ซึ่งวิชาเหล่านี้อยู่ในหลักสูตรปริญญาเทคโนโลยีบัณฑิต สาขาวิชานวัตกรรมเกษตร

อาจารย์ประณต มณีอินทร์ ผู้ร่วมศึกษาวิจัยและพัฒนาสูตรสารละลายธาตุอาหารพืชไฮโดรโปนิกส์ของกัญชาร่วมกับระบบปลูกกัญชาด้วยระบบน้ำแบบสปาราก

ปลูกกัญชา 2564

เกร็ดน่ารู้

สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ชี้แจงว่า การปลูก สกัด และผลิตกัญชา ทั้งหมดยังต้องขออนุญาตจาก อย. ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562 ระบุผู้มีคุณสมบัติขออนุญาตคือ หน่วยงานรัฐ สถาบันอุดมศึกษา เกษตรกรที่รวมกลุ่มกันเป็นวิสาหกิจชุมชน สหกรณ์การเกษตร หรือผู้ประกอบวิชาชีพแพทย์ แพทย์แผนไทย หมอพื้นบ้าน เป็นต้น

โดยวิสาหกิจชุมชนหรือสหกรณ์การเกษตรต้องร่วมกับหน่วยงานรัฐตามเงื่อนไข การอนุญาตมิได้ผูกขาดให้กลุ่มทุนใดโดยเฉพาะ และไม่ได้สงวนเฉพาะสำหรับภาครัฐ แต่ทั้งภาคการเกษตรที่รวมตัวเป็นวิสาหกิจหรือภาคการศึกษาสามารถปลูก ผลิต หรือสกัดกัญชาได้ รวมทั้งเงื่อนไขการปลูกก็ไม่ได้กำหนดว่าต้องปลูกแต่เฉพาะในโรงเรือนระบบปิดเท่านั้น

ผู้ปลูกสามารถปลูกกลางแจ้งได้ แต่ต้องมีระบบการควบคุมดูแลอย่างเข้มงวด เพื่อให้กัญชามีคุณภาพ ปลอดภัยต่อผู้ใช้ และป้องกันการหลุดออกไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ โดยการยื่นขออนุญาตปลูกกัญชาทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ยื่นที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) โดยผู้ที่ได้รับอนุญาตปลูกกัญชาสามาถนำใบหรือส่วนต่าง ๆ ที่ไม่เป็นยาเสพติดไปใช้ประโยชน์หรือจำหน่ายได้ ด้วยการยื่นขอแก้ไขแผนการนำไปใช้ประโยชน์ที่ อย. เช่นกัน

(อ้างอิงจาก ชีวจิต นิตยสารรายปักษ์ ปีที่ 231 มิถุนายน 2564)

เรื่อง:วิรัชญา

ภาพ : อนุพงษ์ ฉายสุขเกษม

ขอขอบคุณข้อมูล:สถานีทดลองวิจัยกัญชาทางการแพทย์คณะนวัตกรรมเกษตร และภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ วิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต

เมนูกัญชา จากต้นไม้ต้องห้ามสู่การศึกษา-ต่อยอด-และนำมาใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน