สำหรับคนไทย “ไก่งวง” อาจจะเป็นสัตว์ที่ไม่คุ้นเคยนัก ทั้งรูปร่างหน้าตาที่แปลก ขนาดตัวใหญ่กว่าไก่ปกติทั่วไป แต่ปัจจุบันไก่งวงเริ่มมีการ เลี้ยงไก่งวง แพร่หลายมากขึ้น
โดยเฉพาะจังหวัดในภาคอีสานถือว่าเป็นกลุ่มผู้เลี้ยงกลุ่มใหญ่ในประเทศไทย รวมทั้งในภาคกลางยังมีผู้เลี้ยงอีกหลายจังหวัด ได้แก่ สระบุรี ปราจีนบุรี รวมทั้งราชบุรีที่เรามาในครั้งนี้ด้วย วันนี้เราจะพาไปทำความรู้จัก วิธี เลี้ยงไก่งวง แบบอินทรีย์ กัน
คุณปู-ศรีสุนันท์ เดชบุตร ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ไก่งวง ราชบุรี ใน อ.ปากท่อ จ.ราชบุรี เลี้ยงไก่งวงมาแล้ว กว่า 7 ปี เดิมทีขายเฉพาะไก่เป็นมีผู้รับซื้อนำไปส่งออกต่างประเทศทั้งมาเลเซียและสปป.ลาว แต่เมื่อเจอปัญหาตลาดชะลอตัว คุณปูจึงหันมาทำตลาดในเมืองไทยให้เป็นที่รู้จักกันในวงกว้างมากขึ้น
จุดเริ่มต้น เลี้ยงไก่งวง
เดิมที่คุณปูเลี้ยงสัตว์อยู่แล้วหลายอย่างทั้งหมู วัว เป็ด ไก่ จนกระทั่งเดินทางไปซื้อโคขุนทางภาคอีสานและรู้จักไก่งวงเป็นครั้งแรกจึงซื้อมาลองทำอาหารรับประทานในราคาตัวละ 3,000 กว่าบาท ราคาขายที่ค่อนข้างสูงทำให้เธอมองเห็นช่องทางการเลี้ยงสัตว์ชนิดนี้เพิ่มขึ้นมา
“เริ่มสนใจเลี้ยงเพราะราคาสูง ได้พันธุ์มาจากมหาสารคามซื้อกลับมา 20 ตัว รุ่นแรกทดลองเลี้ยงปรากฏว่าเลี้ยงได้…ไม่ตาย..โตไว ตอนนั้นเลี้ยงไก่บ้านไว้ด้วยกัน อายุไล่ ๆ กัน พอไก่งวงอายุ 6 เดือนไก่บ้านวิ่งอยู่ใต้ท้องไก่งวงเลย น้ำหนักแตกต่างกันมาก ไก่งวงหนัก 6 กิโลกรัม ไก่บ้านเพิ่งจะ 1.8 -2 กิโลกรัม”
เมื่อเห็นระยะเวลาการเลี้ยงและอัตราการแลกเนื้อที่แตกต่างกันคุณปูจึงตัดสินเลิกเลี้ยงไก่ไทยและหันมาเลี้ยงไก่งวงเป็นหลัก แต่พอปีพ.ศ. 2559-2560 เจอปัญหาขายไม่ได้ เนื่องจากรอขายลูกค้าต่างชาติอย่างเดียว ประกอบกับประเทศเพื่อนบ้านเกิดไข้หวัดนกระบาดไม่สามารถเคลื่อนย้ายไก่เป็นได้ จึงทำประชาสัมพันธ์ให้คนไทยรู้จักมากขึ้น เพราะเป็นตลาดที่ยั่งยืน ไม่มีความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอกทำให้สามารถขายได้ตลอดทั้งปี
เปิดตลาดคนไทยให้รู้จักไก่งวง
คุณปูได้รับคำแนะนำจากนายอำเภอปากท่อ คุณประทีป นทีทวีวัฒน์ ให้ติดต่อสำนักงานเกษตรเพื่อรวมกลุ่มจดทะเบียนวิสาหกิจชุมชนและได้รับการช่วยเหลือไปออกงานแสดงสินค้าจนเป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้น
“เราไม่ได้เลี้ยงคนเดียวอยู่แล้วแต่จะมีเครือข่ายเล็กๆกับเพื่อนบ้านเพื่อให้การขนส่ง 1 เที่ยวมีไก่งวงจำนวนมากพอที่จะขาย การจดทะเบียนวิสาหกิจชุมชนทำให้หน่วยงานรัฐเข้ามาช่วยเรื่องตลาดและผลักดันการขายได้ง่ายขึ้น มีสมาชิกในชุมชนทั้งหมด 21 ครอบครัว ทั้งผู้เลี้ยงและแปรรูป พอรวมกลุ่มแล้วทางหน่วยงานสามารถพาเราไปร่วมงานหรือออกร้านตามสถานที่ต่าง ๆ เช่น ศูนย์ราชการ ห้างสรรพสินค้า
“ช่วงออกร้านแรก ๆ มีคำถามตลอดว่าไก่อะไร กินได้หรือเปล่า กินไม่เป็นบ้าง แต่ตอนนั้นพี่ไปแจกนะ เอาไก่ตัวละพันกว่าบาททอดสมุนไพรสับแจกที่ตลาดเกษตรราชบุรีอาทิตย์ละ 2 วัน อยู่ 3 เดือน นำไปร่วมงานวัด งานบุญ ออกโรงทานด้วย พยายามทำไก่ฝรั่งให้มาเป็นวัตถุดิบอาหารไทยมีแกงเขียวหวานไก่งวง ข้าวมันไก่งวง คนก็เริ่มรู้สึกว่าอร่อยไม่เหมือนเนื้อไก่ทั่วไปที่เคยกิน จนมีพี่นักข่าวช่อง 9 มาช่วยประชาสัมพันธ์จึงเป็นที่รู้จักมากขึ้น ตอนหลังเริ่มขายได้เพราะลูกค้าลองทานแล้วติดใจ ปัจจุบันเราไปออกร้านจึงสามารถขึ้นป้ายไก่งวงได้อย่างสง่างาม”
นอกจากนี้ยังเปลี่ยนกระบวนการผลิตจากขายไก่เป็นอย่างเดียวปรับมาทำเมนูอาหารและขายไก่ชำแหละ ได้รับความช่วยเหลือจากปศุสัตว์จังหวัดราชบุรีแนะนำโรงเชือด ขั้นตอนการเชือด และขนย้าย ปัจจุบันทางกลุ่มมีผลิตภัณฑ์ทั้งเนื้อไก่สดและแปรรูป ได้แก่ ไก่หมัก ไส้อั่วและจ๊อไก่งวง ไก่สดขายปลีกตั้งแต่ 1 ตัวไปจนถึงขายส่งเป็น 10 ตัน
“เรามีไก่งวงให้เลือกตั้งแต่น้ำหนัก 2 กิโลกรัมถึง 10 กิโลกรัม ถามว่าทำไม 1 ตัวก็ขาย ในเมื่อสามารถขายล็อตใหญ่ได้อยู่แล้ว นั่นเพราะต้องการให้คนไทยกินจนคุ้นเคยเพราะเป็นตลาดที่ยั่งยืน ครอบครัวเล็กๆ สามารถซื้อไปลองทานได้ ส่วนล็อตใหญ่จะมีกลุ่มผู้ซื้อไปวางขายร้านที่มีลูกค้าชาวต่างชาติ ซับพลายเออร์ที่นำไปส่งโรงแรมโดยเฉพาะ รวมทั้งคนที่มาซื้อไปขายให้ฝรั่งด้วยกันเอง”
เลี้ยงไก่งวง แบบอินทรีย์ เลี้ยงแบบอิสระ
ไก่งวงนิยมเลี้ยงปล่อยอิสระในแปลง ในสวนที่มีพื้นที่กว้างขวาง ลักษณะนิสัยที่ชอบจิกกินหญ้าจึงเลี้ยงในสวนผลไม้กว้าง ๆ ที่ปลูกพืชแบบเกษตรอินทรีย์เพื่อช่วยกำจัดวัชพืชได้ดี ในระบบเลี้ยงปล่อยจัดพื้นที่ให้ไก่งวง 1 ตัว ต่อพื้นที่ 5 ตารางเมตร แต่ถ้าเลี้ยงในคอกสัดส่วน 3 ตัวต่อพื้นที่ 1 ตารางเมตร ไก่งวงที่เลี้ยงคอกกักขังเนื้อไก่จะมีไขมันเยอะเพราะไก่งวงจะกินแล้วนอน แต่หากเลี้ยงปล่อย (Free-range) จะได้ออกกำลังกาย ตากแดด แสดงลักษณะทางธรรมชาติ เช่น คลุกฝุ่น เนื้อจึงแน่นกว่า เปรียบเทียบเหมือนไก่บ้านกับไก่ฟาร์มที่ให้เนื้อสัมผัสแตกต่างกัน
“ถ้าปล่อยในแปลงที่มีหญ้าเยอะๆเราแทบไม่ต้องให้อาหารเลย ถ้าเป็นไก่รุ่นสามารถปล่อยลงแปลงทั้งวันได้ พอถึงเวลาค่อยเรียกกลับคอก แต่แม่พันธุ์จะปล่อยออกแปลงเป็นเวลาไม่อย่างนั้นจะแอบไปไข่ในสวน โดยปล่อยช่วงเย็นหรือเช้า ให้เขาลงแปลงได้กินหญ้า วิ่งเล่นแล้วก็ค่อยกลับเข้าคอก”
เลี้ยงด้วยอาหารธรรมชาติปลอดสารเคมี
ช่วงแรกที่ไก่งวงยังเล็กให้อาหารสำเร็จโปรตีนสูง 21 % เพียงอย่างเดียวพออายุได้ 2.5-3 เดือนจึงเริ่มผสมอาหารเองค่อย ๆ เพิ่มรำ ปลายข้าว จนกระทั่งลดอาหารสำเร็จลง ส่วนแม่พันธุ์ที่ต้องการเก็บไข่ฟักจะไม่ให้อาหารสำเร็จเพราะทำให้แม่พันธุ์อ้วน และปริมาณไข่น้อย
“ไก่งวงเลี้ยงไม่ยาก โตไว กินอะไรก็ได้ นำรำมาผสมกับปลายข้าว ต้นกล้วย หญ้าเนเปียบด และอาหารสำเร็จรูปบ้าง ผู้เลี้ยงทั่วไปอาจจะใช้หญ้าต้นกล้วยผสมกับอาหารไก่อย่างละครึ่งสามารถประหยัดอาหารลงได้ 50 % ถ้ามีวัตถุดิบท้องถิ่น เช่น กากถั่วเหลือง กากมะพร้าว หรือผักตบชวานำมาตัดรากทิ้ง เอามาผสมก็จะช่วยทุ่นค่าใช้จ่ายได้มาก”
ขนาดและอายุไก่งวง
ไก่งวงเริ่มจับขายได้ตอนอายุ 4-6 เดือน ตัวเมียอายุ 4 เดือน เนื้อจะเริ่มเต็ม ส่วนตัวผู้ 5-7 เดือนจนถึง 1 ปี ไก่งวงพันธุ์ไทยน้ำหนักมากสุดประมาณ 15 กิโลกรัม ส่วนพันธุ์ลูกผสมตัวผู้น้ำหนักมากถึง 20-30 กิโลกรัม ส่วนตัวเมีย 7-10 กิโลกรัม
“ช่วงแรกๆเราเลี้ยงพันธุ์ไทยอย่างเดียวตอนหลังได้รับการสนับสนุนการพัฒนาพันธุ์จากปศุสัตว์ เข้าโครงการไทยนิยมยั่งยืนได้ซื้อพันธุ์สัตว์จากศูนย์วิจัยและบำรุงพันธุ์สัตว์ทับกวาง ศูนย์วิจัยและบำรุงพันธุ์สัตว์ปีกกบินทร์บุรี ปัจจุบันจึงมีพันธุ์อเมริกันบรอนซ์กับพันธุ์ลูกผสม พันธุ์อเมริกันบรอนซ์เป็นไก่โครงสร้างใหญ่ข้อเสียคือเลี้ยงนาน 6-7 เดือนขึ้นไปเนื้อถึงจะเต็ม ถ้าพันธุ์ลูกผสมอายุแค่ 4-5 เดือนน้ำหนักเท่าพันธุ์อเมริกันบรอนซ์อายุ 6-7 เดือน แต่ลักษณะเนื้อแตกต่างกัน ความอร่อยก็แตกต่างกัน ส่วนตัวพี่ชอบเนื้อของสายพันธุ์อเมริกันลักษณะเนื้อสีชมพูถึงแดง อร่อย เหนียวและหวานกว่า ถ้าพันธุ์ลูกผสมเนื้อจะเป็นสีขาว แต่มีเนื้อมากกว่า”
ทำวัคซีนไก่งวง
- ลูกไก่แรกเกิดช่วง 1 สัปดาห์แรก และ 3 สัปดาห์ ทำวัคซีนนิวคาสเซิล
- ลูกไก่อายุ 4 สัปดาห์ ทำวัคซีนฝีดาษ
- เมื่อขุนไก่ได้ 2 เดือน จับถ่ายพยาธิ 1 ครั้ง
- ไก่แม่พันธุ์จะทำวัคซีนอหิวาห์เพิ่มจากวัคซีนชนิดอื่น
ส่วนคอกเลี้ยงฉีดพ่นฆ่าเชื้อสม่ำเสมอช่วงฤดูฝนจะฉีดทุกวันเพื่อป้องกันสัตว์ป่วย และให้สมุนไพรเสริมมีฟ้าทลายโจรล้างสะอาด 1 กิโลกรัมแห้ง ต่อน้ำตาลทรายแดง 3 ขีด ใส่น้ำให้ท่วมหมักไว้ 30 วัน นำมาผสมน้ำให้ไก่กินอัตราส่วน 10 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 1 ลิตร หรือนำใบแห้งมาใส่น้ำอุ่นชงแบบชา ช่วยป้องกันหวัดและปรับสมดุลในลำไส้ ช่วงฝนตกจะให้กินยาสมุนไพรทุกวัน อาจจะเพิ่มปริมาณมากกว่า 10 มิลลิลิตรต่อน้ำ 1ลิตร และใช้บอระเพ็ดทุบลวกน้ำอุ่นแล้วหมัก นำมาผสมน้ำให้ไก่กินช่วยถ่ายพยาธิ เราพยายามทำวัคซีนไม่เยอะ ตอนแรกทดลองไม่ให้วัคซีนอยากให้เป็นธรรมชาติที่สุด แต่ก็พบว่าไก่เป็นหวัด พอปรับมาให้วัคซีนครบตารางก็จะไม่ค่อยป่วย พอไก่งวงอายุ 4-5 สัปดาห์ทำวัคซีนครบจึงส่งให้ผู้เลี้ยงในเครือข่าย”
ไก่งวงนับว่าเป็นสัตว์ที่เหมาะสำหรับเลี้ยงเพื่อนำเนื้อมาเป็นอาหารมากกว่าเลี้ยงเพื่อความสวยงาม ด้วยลักษณะตัวใหญ่ให้เนื้อมากหลายพื้นที่จึงนิยมนำมาประกอบอาหารในงานเลี้ยง เพราะไก่งวงเพียงไม่กี่ตัวสามารถทำอาหารเลี้ยงคนได้จำนวนมาก หากสนใจการเลี้ยงไก่งวง สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมที่ ไก่งวง ราช บุรี หรือหาข้อมูลจากแหล่งเลี้ยงในพื้นที่ใกล้เคียง
ติดต่อสอบถาม
Facebook :ไก่งวง ราชบุรี โทร. 089-914-8016 , 092-924-9942
อ่านรายละเอียดการเลี้ยงไก่งวงและสัตว์ปีกอื่น ๆ เพิ่มเติมที่หนังสือ “คู่มือเลี้ยงไก่ในบ้าน สร้างเล้าไก่ในฝัน”
เรื่อง: วรัปศร
ภาพ: สิทธิศักดิ์ น้ำคำ