ทุกคนล้วนรู้จักกลิ่นของ “วานิลลา” หรือ วนิลา กันเป็นอย่างดี จากเครื่องดื่ม ขนมหวาน หรือแม้เครื่องสำอาง แต่ทราบไหมว่า วานิลลาแท้ๆ นั้นใช้เวลาในการผลิตเกือบ 1 ปีเต็ม กว่าที่จะได้ฝักวานิลลาที่พร้อมนำไปใช้
ซึ่งผู้ที่จะมาแนะนำการดูแลต้นวานิลลาและการผลิตฝัก วานิลลา คุณยา – ชัยยา อภิจำนงเจริญ เกษตรกรผู้ปลูกวานิลลากว่า 18 ปี เจ้าของ สวนวานิลลา สยาม วานิลลา อาข่า ดอยตุง ต.แม่ฟ้าหลวง อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย
จุดเริ่มต้นของการปลูกวานิลลา
คุณยา เล่าว่า “ย้อนกลับไปเมื่อ 18 ปีที่แล้ว ได้มีโครงการพัฒนาดอยตุงเข้ามาส่งเสริมการปลูกวานิลลาให้มาทดลองปลูก ต้นที่ได้รับมาเป็นกล้าชำยาวประมาณ 20-30 ซม. ทำให้ในช่วง 2-3 ปี แรก ยังไม่มีผลผลิต แต่พอเข้าปีที่ 4 ต้นวานิลลาก็เริ่มออกดอก ติดฝัก และเก็บผลผลิตได้ จนปัจจุบันภายในพื้นที่ 1 ไร่กว่า มีต้นวานิลลาอยู่ประมาณ 6,000 ต้น”
สายพันธุ์วานิลลา
โดยวานิลลาที่คุณยาปลูกเป็นสายพันธุ์ Vanilla planifolia Andrew. เป็นสายพันธุ์ที่มีความนิยมมากที่สุด มีถิ่นกำเนิดอยู่แถบอเมริกากลาง อย่างประเทศเม็กซิโก ปัจจุบันวานิลลาเป็นพืชที่ปลูกเยอะในประเทศมาดากัสการ์ อินโดนีเซีย และเม็กซิโก
วานิลลา เป็นพืชที่จัดอยู่ในสกุล วานิลลา (Vanilla) ตระกูลเดียวกับ กล้วยไม้ (Orchidaceae) ซึ่งกว่าจะได้ฝักวานิลลามีกรรมวิธีในการผลิตที่ใช้ระยะเวลาเกือบ 1 ปี ตั้งแต่การผสมเกสรจนถึงการบ่มฝักวานิลลา เพื่อให้เกิดสารที่ให้กลิ่นเรียกว่า วานิลลิน (Vanillin) และได้มีการนำสารชนิดนี้มาใช้ประโยชน์กันอย่างแพร่หลาย จึงทำให้วานิลลาเป็นเครื่องเทศที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงเป็นอันดับสองของตลาดโลก เป็นรองเพียงแค่หญ้าฝรั่นเท่านั้น
การดูแลต้นวานิลลา
ต้นวานิลลาเป็นพืชตระกูลเดียวกับกล้วยไม้ มีรากอากาศในการตรึงไนโตรเจนเพื่อใช้ในการเจริญเติบโต วัสดุที่ปลูกตรงโคนต้นจึงใช้เป็นกาบมะพร้าวเพื่อรักษาความชื้นก็เพียงพอแล้ว ต้นวานิลลาชอบอากาศร้อนชื้น การรดน้ำจะใช้สปริงเกอร์รดให้โดนทั่วทั้งต้น แต่ถ้าช่วงไหนที่อากาศชื้นก็ไม่จำเป็นต้องรดน้ำ
ต้นวานิลลาชอบแสงแดดแบบร่มรำไร ถ้าปลูกกลางแจ้งต้องใช้ซาแรนพรางแสง 70% น้ำไม่ท่วม มีฝนตกทั้งปี ประเทศไทยจึงเป็นอีกประเทศที่สามารถปลูกเลี้ยงวานิลลาได้ดี
ข้อแตกต่างของประเภทค้าง
ค้างเป็นสิ่งที่จำเป็นมากสำหรับต้นวานิลลาเพื่อใช้ในการเกาะและเจริญเติบโต โดยค้างจากต้นวาสนามีข้อดีที่สามารถเกาะได้ดีกว่า แต่มีข้อจำกัดเมื่อต้นวานิลลามีขนาดใหญ่จะทำให้ต้นวาสนาล้มลงได้ ทำให้ต้องดูแลบ่อย ส่วนเสาปูนในช่วงแรกอาจจะเกาะไม่ค่อยดี แต่ในระยะยาวเมื่อต้นใหญ่ขึ้นและเริ่มสร้างทรงพุ่มแล้วจะสามารถเกาะได้ดี ซึ่งใช้งานได้ยาวนานกว่า ดูแลน้อยกว่า
ปัญหาที่พบในการปลูกวานิลลา
ปัญหาการในเพาะปลูกที่เจอเป็นหนอนและหอยทากมากินยอดอ่อนของต้นวานิลลา ส่วนในช่วงฤดูฝนและฤดูหนาวเป็นช่วงที่มีความชื้นสะสมสูงก็มีโอกาสเป็นเชื้อราตรงยอดได้ แต่ก็ไม่ได้เสียหายร้ายแรงถึงขั้นต้องใช้สารเคมี คุณยาจึงปลูกแบบออร์แกนิก 100% เพราะวานิลลาเป็นพืชที่ปลูกง่าย ดูแลไม่ยาก
การผสมเกสรดอกวานิลลา
ความท้าทายของวานิลลาเริ่มตั้งแต่การผสมเกสร โดยต้นวานิลลาจะออกดอกช่วง เดือนมกราคม – เมษายน และจะสามารถผสมเกสรได้ตั้งแต่ 8.00 จนถึง 12.00 พอหลังจากเที่ยงดอกจะค่อยๆ หุบลง ทำให้หลังจากผสมเกสรแล้วฝักจะสมบูรณ์ก็น้อยลงตาม เพราะฉะนั้นต้องผสมเกสรให้เสร็จก่อนเที่ยงภายในวันนั้นเลย
โดยการผสมเกสรของดอกวานิลลานั้นต้องใช้มือในการผสมเกสรเท่านั้น การที่ให้แมลงช่วยในการผสมเกสรแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย เพราะดอกวานิลลาระหว่างเกสรตัวผู้และตัวเมียจะมีเยื่อบางๆ ปิดกั้นอยู่ แล้วการที่แมลงจะเขี่ยให้เปิดออกได้ถือว่ายากมาก
ขั้นตอนการเก็บฝัก
หลังจากผสมเกสรเสร็จ ใช้ระยะเวลากว่าฝักจะแก่พร้อมเก็บเกี่ยวประมาณ 7-9 เดือน ถ้าหากเก็บก่อนฝักจะอ่อนแล้วกลิ่นของวานิลลาจะหอมได้ไม่เต็มที่
การสังเกตสีของฝักวานิลลาเพื่อใช้ในการเก็บเกี่ยวจะคล้ายกับกล้วย โดยช่วงที่ฝักยังอ่อนอยู่จะมีเสียงเขียวที่ชัดเจน พอฝักใกล้สุกจะเริ่มมีสีเขียวอมเหลือง สังเกตได้ชัดจากบริเวณปลายยอดของฝัก ถ้าเริ่มมีสีเหลืองจึงค่อยเก็บได้
ฝักวานิลลาที่แก่จัด
ฝักวานิลลาที่แก่จัดฝักก็จะแตกออก จนไม่สามารถนำไปใช้ในการบ่มได้ โดยที่ด้านในฝักที่ไม่ได้ผ่านกระบวนการบ่มจะมีลักษณะเป็นเม็ดสีขาวแทน
การแยกเกรดฝักวานิลลา
หลังจากที่เก็บเกี่ยวมาแล้ว คุณยาก็จะแยกเกรดของฝักวานิลลาตามความสมบูรณ์และความยาวของฝัก เป็นเกณฑ์ในการบ่มฝักวานิลลาและใช้ในการกำหนดราคา โดยฝักวานิลลาเกรด A มีขนาดยาว 15-17 ซม. ฝักวานิลลาเกรด B มีขนาด 13-15 ซม. และฝักวานิลลาเกรด C มีขนาด 11-13 ซม.
ขั้นตอนการบ่ม
วิธีการบ่ม คุณยาได้รับการถ่ายทอดผ่านอาจารย์ นักวิจัยจากโครงการพัฒนาดอยตุง และศึกษาค้นคว้าจากอินเทอร์เน็ตเพิ่มเติม โดยเริ่มจากนำฝักวานิลลามาลวกด้วยน้ำอุ่นที่อุณหภูมิ 65-70 องศาเซลเซียส โดยเกรด A ใช้เวลาลวก 4 นาที เกรด B ใช้เวลาลวก 3 นาที และเกรด C ใช้เวลาลวก 2 นาที จากนั้นนำมาพึ่งลมจนแห้ง แล้วย้ายไปบ่มไว้ในผ้าฝ้ายสีดำ เป็นเวลา 2 คืน
พอครบแล้วจึงนำฝักไปตากแดดทุกวัน เริ่มจากนำฝักมาแดดวันละ 2 ชั่วโมง โดยเฉพาะช่วงที่แดดแรงที่สุดของวัน ต้องค่อยๆ ให้ฝักแห้งอย่างช้าๆ เพื่อไม่ให้กลิ่นระเหยออกไป จากนั้นก็นำมาห่อด้วยผ้าฝ้ายสีดำ ทำแบบนี้ทุกวันเป็นระยะเวลา 45-60 วัน ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศของแต่ละปี ว่ามีแสงแดดดีไหม ถ้าฝนตกบ่อยก็จะทำให้การตากช้าลงไป
พอตากแดดจนฝักวานิลลาแห้งดีแล้ว ก็นำมาบ่มไว้ในถังอีก 3 เดือน เพื่อให้กลิ่นซึมอยู่ภายในฝัก ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ทำให้ฝักวานิลลามีกลิ่นหอม พอบ่มจนได้ที่แล้วก็นำฝักวานิลลามาซีลไว้ ซึ่งสามารถเก็บไว้ได้นาน 1-2 ปี
ราคาของฝักวานิลลาแห้ง เกรด A 200 บาท/ฝัก (กิโลกรัมละ 20,000 บาท) ฝักวานิลลาแห้งเกรด B 150 บาท/ฝัก และฝักวานิลลาแห้งเกรด C 100 บาท/ฝัก ส่วนฝักที่ไม่ค่อยสวยก็นำไปแปรรูปต่อไป
การนำฝักวานิลลาไปแปรรูปขั้นต้น
การแปรรูปฝักวานิลลาขั้นต้น สามารถใช้ทำเป็นน้ำตาลกลิ่นวานิลลา (vanilla sugar) วานิลลาสกัด (vanilla extract) ฝักวานิลลาหมักเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์
ถ้าสนใจฝักวานิลลา ผลิตภัณฑ์จากวานิลลา สามารถติดต่อผ่านทางเพจ สยาม วานิลลา อาข่า ดอยตุง หรือติดต่อ 088-403-0839 (คุณยา) ได้เลย
วิธีสังเกตวานิลลาแท้
ผลิตภัณฑ์จากวานิลลาแท้ๆ จะสังเกตเห็นเม็ดสีดำขนาดเล็ก ซึ่งพอเคี้ยวแล้วจะมีเสียงในปาก
จะเห็นได้ว่า กว่าจะได้วานิลลามาสักฝักหนึ่ง ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ตั้งแต่การผสมเกสรที่จำเป็นต้องใช้มือทั้งหมด และใช้ระยะเวลาในการรออีก 8-9 เดือนกว่าฝักจะสุก แล้วสุดท้ายขั้นตอนการบ่มฝักที่กินระยะเวลา 5-6 เดือน จนมาสู่ฝักวานิลลาที่พร้อมนำไปใช้ประโยชน์ ทำให้ไม่แปลกใจเลยที่ว่าทำไมวานิลลาจะเป็นเครื่องเทศอันดับ 2 ของโลก
เรื่อง : กิตตินัย อัศวเลิศลักษณ์
ภาพ : อนุพงษ์ ฉายสุขเกษม