สวนวานิลลาข้างบ้าน กิจกรรมไม่เล็กภายในครอบครัว ที่มีต้นวานิลลากว่า 1,000 ต้น

กิจกรรมข้างบ้านของใครหลายคนคงจะเป็นการปลูกผักไว้ทานเอง แต่ไม่ใช่สำหรับ คุณแอน – วิลาสิณี ชัยเพ็ชร ผู้ที่ทำ สวนวานิลลา ข้างบ้าน Vanilland Family Farm ให้เป็นกิจกรรมสำหรับสมาชิกในครอบครัว

ทุกอย่างเริ่มต้นมาจากที่ คุณแอน รู้สึกอิ่มตัวจากงานประจำที่ทำ จึงตัดสินใจออกมาพักก่อนแล้วค่อยกลับไปทำใหม่ เพื่อให้ตัวเองได้ลองทำสิ่งใหม่ที่ตัวเองไม่เคยทำมาก่อน และในระหว่างนั้นก็หากิจกรรมให้ ตาจรัล (คุณลุงของคุณแอน) กลับมาอยู่บ้านจากเดิมที่ต้องเดินทางไปกลับระหว่างบ้านและสวนยางพารา สู่จุดเริ่มต้นของการทำ สวนวานิลลา ข้างบ้าน

คุณแอน – วิลาสิณี ชัยเพ็ชร ผู้ที่ทำ สวนวานิลลา ข้างบ้าน Vanilland Family Farm

คุณแอน เล่าว่า“ตาจรัล มีสวนยางพาราอยู่บนเขาห่างจากบ้านไป 40 นาที เรารู้สึกว่ามันไกลและอันตราย จึงหาวิธีให้เขากลับมาอยู่บ้าน แต่ก็ไม่อยากปลูกผัก เพราะผักต้องดูแลเยอะ ทั้งหมักปุ๋ยพรวนดิน ตากแดดด้วย แล้วถ้าแถวบ้านฉีดยา แมลงก็จะมาที่นี่ อาจทำให้เราใจไม่แข็งพอจนทำให้ต้องใช้เคมีด้วย”

ในระหว่างที่คุณแอนกำลังหากิจกรรมให้ตาจรัลมาอยู่บ้าน ก็ได้ลองทำอะไรหลายๆ อย่าง จนมาถึงคิวของชีสเค้กหน้าไหม้ที่ทำให้เป็นจุดเริ่มต้นของการปลูกวานิลลาข้างบ้าน

“ช่วงที่ชีสเค้กหน้าไหม้เป็นกระแส ก็อยากลองทำบ้าง และได้ไปซื้อวานิลลาถูกๆ มาใช้ แต่เผลอทำหกลงไป ปรากฏว่ากลิ่นนั้นเหม็นจนกินไม่ได้ และอยากรู้ว่ามีวานิลลายี่ห้ออื่นไหมที่พอจะใช้ได้”

สวนวานิลลา

“ก็เริ่มศึกษาหาข้อมูลจนไปเจอว่า ต้นวานิลลานั้นปลูกไม่ยาก ดูแลง่าย เดินชมสวนก็ไม่ร้อน ผู้สูงวัยสามารถทำได้ สุดท้ายก็ตัดสินใจเลือกวานิลลามาลองปลูก พอเห็นว่าเป็นไปได้ ก็ให้เป็นกิจกรรมระหว่างเรากับครอบครัวได้ใช้เวลาร่วมกัน”

สมาชิกในครอบครัว สวนวานิลลา แห่งนี้ มีทั้งหมด 5 คน โดยแต่ละคนนั้นจะมีกิจกรรมที่แตกต่างกันออกไปตามความถนัดและความชอบ นอกจากนี้ก็ยังมีเรื่องของการดูแลไปจนถึงการแปรรูปวานิลลา ตลอดจนความแตกต่างของวานิลลาสายพันธุ์ตาฮิติ ซึ่งเป็นวานิลลาอีกสายพันธุ์หนึ่งที่ไม่ค่อยมีในตลาดวานิลลาอีกด้วย

สวนวานิลลา
สมาชิกครอบครัว Vanilland Family Farm

สมาชิกครอบครัว Vanilland Family Farm

คุณแอน แอดมินประจำเพจผู้ที่คอยอัปเดตเรื่องราวของ สวนวานิลลา ข้างบ้านให้กับทุกคนได้อ่านและติดตามกัน รวมถึงเป็นผู้ที่ค้นคว้าหาข้อมูลเกี่ยวกับการปลูกวานิลลาจนมาสู่การทำ สวนวานิลลา ข้างบ้านแห่งนี้

คุณตาแสวง บงกันคำ อายุ 72 ปี คุณพ่อของคุณแอน เป็นแผนกเครื่องยนต์ ตัดหญ้า ตัดกิ่งไม้ ต้นไม้ และให้ปุ๋ยต้นวานิลลา

คุณยายเครือวัลย์ บงกันคำ อายุ 68 ปี คุณแม่ของคุณแอน เป็นแผนกทำน้ำหมักหัวปลา และน้ำหมักสับปะรด เป็นคนดูแลเรื่องการให้ปุ๋ย ผสมพันธุ์ดอกวานิลลา จัดระเบียบต้นวานิลลา จับหนอนและกำจัดแมลงด้วยน้ำส้มควันไม้

คุณตาจรัล เครือกลางรงค์ อายุ 80 ปี คุณลุงของคุณแอน เป็นแผนกงานช่าง (วิศวกะ) คอยดูและซ่อมแซมโครงสร้างโรงเรือน ทำระบบน้ำภายในสวน รวมถึงรดน้ำต้นวานิลลาด้วย

คุณยายบุญปั๋น เครือกลางรงค์ อายุ 72 ปี คุณป้าของคุณแอน เป็นแผนกดูแลเรื่องการตัดแต่งต้นวานิลลา ผสมพันธุ์ดอกวานิลลา กำจัดหนอนและแมลง จัดการเรื่องการตัดกิ่งพันธุ์จำหน่าย รวมถึงเป็นคนผลักดันให้ คุณแอน ทำสวนวานิลลาอีกด้วย

สวนวานิลลา

วานิลลาต้นครู

จะปลูกอะไรก็ต้องมีต้นครู ซึ่งรวมถึงวานิลลาต้นแรกต้นนี้ด้วยเช่นกัน ที่ทำให้เป็นจุดเริ่มต้นของการทำสวนวานิลลาข้างบ้าน

“ตอนปลูกแรกๆ มีปัญหาที่ไม่คิดว่าจะเจอมากมาย ทั้งมดที่ขึ้นมาไต่เต็มต้น ก็ทำให้รู้เป็นสัญญาณว่าดอกกำลังจะมา โดยที่มดจะไปเกาะกันตรงที่ตุ่มดอก ต่อมามีหนอนมากิน ก็ให้ฉีดพ่นด้วยน้ำส้มควันไม้ พอเลี้ยงไปสักพักยอดมันกุด ก็ทำให้รู้ว่าเป็นปกติของต้นวานิลลาที่ต้นมันจะสลัดยอด”

“พอเริ่มออกดอก ทำไม่เป็นก็ดูยูทูปศึกษาไปพร้อมๆ กัน ทำให้พวกเราก็ได้เรียนรู้ต่ออีกว่า ดอกวานิลลาหน้าตาเป็นอย่างไร พอฝักสุกแล้วจะมีอะไรเกิดขึ้น ถ้าตัดเร็วไปแล้วพอนำฝักไปตากแดดฝักจะหดและกลิ่นไม่ค่อยดี ถ้าตัดพอดีฝักที่ได้ก็จะอ้วนแล้วก็มีกลิ่นหอม จึงทำให้ต้นนี้เป็นครู”

สวนวานิลลา
ด้านบน วางระบบน้ำตามแนวแถวของเสาอย่างเป็นระเบียบ

การทำระบบน้ำสำหรับต้นวานิลลา

ภายในพื้นที่ข้างบ้านกว่า 100 ตารางเมตร มีเสาต้นวานิลลาอยู่ประมาณ 130 เสา โดยเสา 1 ต้น ปลูกต้นวานิลลา 8-10 ต้น ทำให้มีต้นวานิลลาอยู่อย่างน้อย 1,000 ต้น จนสุดท้ายจำเป็นต้องมีระบบน้ำเพื่อให้ง่ายในการดูแล

“การรดน้ำช่วงแรก เขาก็ไม่อยากลงทุนเลย จะทำกันเองกันหมดเพราะเขาจะเครียดถ้าจะต้องจ่ายเงิน แต่รดน้ำอย่างเดียวก็หนึ่งชั่วโมงแล้ว ลากสายไปมา ถ้าถามว่าวันหนึ่งไม่มีใครอยู่บ้าน ใครจะมาลากสายรดน้ำให้เรา พอผ่านไป 2-3 เดือน เราก็ค่อยมาทำระบบน้ำ”

หัวฉีดสเปรย์ปีกผีเสื้อ 2 หัว ต่อ 1 เสา

ระบบน้ำที่ใช้เป็นหัวฉีดสเปรย์ปีกผีเสื้อ สามารถให้น้ำกระจายได้อย่างทั่วถึง ซึ่งไม่ได้เปิดจนกระทั่งน้ำเปียกโชกเพียงแค่ต้องการสร้างความชื้นในบรรยากาศเท่านั้น จะเปิดเพียงแค่ 5 นาที โดยแหล่งน้ำที่ใช้เป็นน้ำประปาหมู่บ้าน

“ตอนแรกก็กังวลว่าเราจะใช้น้ำเยอะจนไม่ไหวหรือเปล่า กลัวค่าน้ำจะเป็นหลักพันสุดท้ายตกเดือนละ 80 บาท ทางผู้ใหญ่บ้านก็สนับสนุนเพราะจะได้มีรายได้ จากนั้นคุณตาจรัลก็เริ่มทำแทงค์น้ำ เดินท่อน้ำกันเอง เวลาให้น้ำคุณตาก็จะใส่เสื้อกันฝน แล้วมาเดินเช็คตามหัวฉีดสเปรย์ว่าออกดีทุกหัวไหม”

เครื่องวัดอุณหภูมิและความชื้น ถ้าเข็มอยู่ในโซนสีส้มก็ให้รดน้ำ เพราะความชื้นต่ำเกินไป

อุณหภูมิและความชื้น

ภายในโรงเรือนจะมีเครื่องวัดความชื้นและอุณหภูมิเพื่อเป็นตัวกำหนดการรดน้ำ

“เรียนรู้ได้เลยว่า สถานที่ที่ปลูกวานิลลาได้ดีจะเป็นที่ที่อุณหภูมิระหว่างกลางวันและกลางคืนแตกต่างกันพอสมควร ช่วงกลางวันที่นี่ อุณหภูมิภายในโรงเรือน 29-30 องศาเซลเซียส แต่พอกลางคืนอุณหภูมิจะลดลงอยู่ในโซนสีฟ้าเลย ประมาณ 15-17 องศาเซลเซียส”

“ส่วนความชื้นพอเข้าหัวค่ำความชื้นก็จะเริ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ จนอยู่ในโซนสีเขียวและความชื้นก็จะค่อยๆ ลดลงจนเข้าสู่โซนสีส้มในช่วงบ่าย เขาก็จะรดน้ำช่วงที่อากาศร้อน แต่ไม่ควรรดเกิน 15.00 น. เพราะความชื้นจะสะสมเยอะในช่วงกลางคืนเกินจนทำให้ราขึ้นได้”

ร่องรอยมูลของหนอนที่เข้ามากัดกินใบของต้นวานิลลา

กำจัดหนอนและหอยทากด้วยน้ำส้มควันไม้ใน สวนวานิลลา

“เวลามีหนอนและหอยทากมากินต้นวานิลลาจะสังเกตเห็นมูลตกอยู่บนใบ ก็จะรู้แล้วว่าแถวนี้มีหนอน มีหอยทาก ก็ต้องใช้ไฟส่องจับหนอนช่วงตอนหัวค่ำ แต่เดี๋ยวนี้ไม่ต้องแค่ฉีดพ่นด้วยน้ำส้มควันไม้ก็เพียงพอแล้ว ครั้งแรกที่ปลูกกังวลมากเลย แต่พอนานๆ ไปก็จะรู้ว่าเป็นปกติ ที่ใบจะมีที่มันไม่ค่อยสวยบ้าง เป็นรอยบ้าง”

ภายในเสาจะใช้กาบมะพร้าวเพื่อเป็นวัสดุรักษาความชื้นให้กับต้นวานิลลา

กาบมะพร้าววัสดุปลูกจากร้านขนมไทยแถวบ้าน

ช่วงแรกที่ปลูกจะใส่กาบมะพร้าวเพียงนิดเดียวเพราะต้นยังมีขนาดที่เล็กอยู่ คุณแอนก็จะไปซื้อกาบมะพร้าว มาแช่น้ำไว้ 3 วัน ก่อนนำไปปลูก ผ่านไปสักพักมะพร้าวสับมันยุบตัว ก็ต้องคอยเพิ่มกาบมะพร้าวตามความสูงของต้นทำให้ช่วงแรกไม่ได้ลงทุนเยอะ

“คุณตาก็จะไปตะเวนตามบ้านคนที่เขาขายขนมไทย ที่เขาใช้มะพร้าวกันเยอะๆ ทำให้มีเปลือกมะพร้าวจะต้องทิ้งอยู่แล้ว ก็จะไปโกยใส่รถกระบะ แล้วเอามากองไว้กลางแจ้งให้โดนน้ำฝนจนกระทั่งเปลือกมะพร้าวเปื่อย ก็นำมาใช้ได้ ทำให้เวลาต้องเติมกาบมะพร้าวไม่จำเป็นต้องซื้อ”

สวนวานิลลา
โครงเหล็กเต็นท์ที่ถูกยึดไว้ด้วยเหล็กเก่า เพื่อให้สามารถใช้งานได้

โรงเรือน สวนวานิลลา ที่สร้างโดยวิศวกะ

ก่อนที่จะมีโรงเรือน ก็ได้ทดลองปลูกต้นวานิลลาไว้ใต้ต้นไม้ แต่ปรากฏว่าโตไม่ค่อยดีเพราะอากาศแห้งเกินไปและ แสงแดดส่องถึงโดยตรงทำให้ใบไหม้ จึงตัดสินใจทำโรงเรือน

“ตอนแรกก็โวยวายกันเยอะมาก เพราะที่บ้านไม่อยากให้ซื้ออะไรเลย ก็ไปซื้อเหล็กเต็นท์เก่าของหมู่บ้านที่เขาจะโละขาย เต็นท์หนึ่งหลังซื้อมา 2,000 บาท แล้วก็ซื้อเหล็กเก่าเพิ่มอีก 1,000 บาท แล้วเราก็ค่อยๆ เติมจนสุดท้ายก็พร้อมปลูกต้นวานิลลาจนได้”

“แต่รู้ไหมว่าโครงสร้างทั้งหมดนี้ผู้สูงวัยทำกันเองทั้งหมดเลย ทั้งขุดหลุม ลงเสา เชื่อมเหล็ก โดยตาจรัลวิศวะกะของเรา”

สวนวานิลลา
ฝักวานิลลาที่ใกล้พร้อมจะเก็บเกี่ยว
สวนวานิลลา
วานิลลาสกัด (Vanilla Extract)
ภาพ : Vanilland Family Farm

ศึกษาการแปรรูปฝักวานิลลา

ในระหว่างที่รอต้นวานิลลาออกฝัก ก็มีการวางแผนและเตรียมตัวให้พร้อมว่าจะทำอย่างไรกับฝักวานิลลาต่อไป โดยฝักที่มีขนาดใหญ่ก็เตรียมขายเป็นฝักแห้ง ส่วนฝักที่มีขนาดเล็กก็เอาไปทำสินค้าแปรรูปอื่นอย่าง วานิลลาสกัด (Vanilla Extract) น้ำตาลวานิลลา (Vanilla Sugar) วานิลลาเพสท์ (Vanilla Paste) ซึ่งคุณแอนก็ได้ซ้อมกับฝักวานิลลาจากต้นวานิลลาต้นครูซึ่งเป็นกิ่งแก่ทำให้ออกดอกไว

วิธีทำ วานิลลาสกัด (Vanilla Extract) เริ่มจากใส่วอดก้าลงไปในภาชนะที่เตรียมไว้ แล้วขูด วานิลลิน (เม็ดสีดำเล็กๆ ที่อยู่ในฝักวานิลลาแห้ง) และเปลือกที่เหลือเข้าไป หมักไว้ประมาณ 6 เดือน ก็สามารถนำไปใช้เป็นส่วนผสมของเบเกอร์รีโฮมเมดได้เลย

สวนวานิลลา
วานิลลาสายพันธุ์ตาฮิติ (Vanilla tahitensis)
สวนวานิลลา
วานิลลาสายพันธุ์พลานิโฟเลีย (Vanilla planifolia)

ความแตกต่างของวานิลลาสายพันธุ์ตาฮิติ (Vanilla Tahitensis)

คุณแอนสร้างความโดดเด่นให้กับสวนวานิลลาด้วย วานิลลาสายพันธุ์ตาฮิติ ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่มีน้อยในตลาด

“ในระหว่างที่หาข้อมูล ก็พบว่า วานิลลาสายพันธุ์พลานิโฟเลียเป็นที่นิยมมากที่สุด แต่เราอยากสร้างความแตกต่าง จนมาเจอสายพันธุ์ตาฮิติ ซึ่งวานิลลาสายพันธุ์นี้มีกลิ่นที่แตกต่างเล็กน้อย แต่สำหรับเชฟบางคนก็จะบอกว่ามีกลิ่นที่ไม่เหมือนกัน จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับเชฟ”

และนอกจากที่สายพันธุ์นี้จะมีกลิ่นที่แตกต่างออกไปแล้ว ยังสามารถออกดอกได้เร็วทำให้ได้ฝักวานิลลาที่เร็วด้วยเช่นกัน

“อีกเหตุผลสำคัญคือ สายพันธุ์ตาฮิติสามารถออกดอกได้เร็วกว่าสายพันธุ์พลานิโฟเลีย จึงตัดสินใจปลูกแต่ละสายพันธุ์ไว้อย่างละครึ่ง ซึ่งพอเปิดเพจก็มีคนติดต่อเข้ามาขอซื้อกิ่งพันธุ์ตาฮิติค่อนข้างเยอะ เพราะไม่ค่อยมีใครมี ทำให้พอมีรายได้ในระหว่างที่รอต้นวานิลลาออกดอก”

ซึ่งสายพันธุ์พลานิโฟเลียเอง ก็มีจุดเด่นตรงที่ลักษณะของฝักจะอ้วนและยาวเมื่อเทียบกับสายพันธุ์อื่นๆ ทำให้ในหนึ่งพวงจะมี 2 ฝัก ที่จะได้ฝักเกรด A อย่างน้อย 2 ฝัก ซึ่งราคาฝักวานิลลาแห้ง เกรด A ราคาฝักละ 200 บาท

สวนวานิลลา

สำหรับคนที่อยากทำ สวนวานิลลา

“เวลาคนที่ได้ยินมาว่า กิโลกรัมละ 20,000 บาท เราก็จะพยายามเบรกเขา และถามว่าอยากปลูกจริงหรือเปล่า ถ้าอยากทำฟาร์มจริงให้มาลองดูก่อน เดี๋ยวเราเล่าให้ฟังว่าสิ่งที่ต้องเจอมีอะไรบ้าง ถ้าคุณอยู่บ้านตลอดมีเวลาดู ก็แนะนำให้ทำ”

“ด้านหลังบ้านห่างไปอีก 100 เมตร มีที่อีก 10 ไร่ ถ้าเราทำเพิ่มซึ่งแปลว่า คุณตาคุณยาเขาก็จะต้องออกจากบ้าน เพื่อที่จะเดินดูหนอน รดน้ำต้นวานิลลา ซึ่งเราก็คิดแล้วถ้าทำตรงนั้นในพื้นที่ใหญ่ได้ผลตอบแทนที่ดีกว่า แต่ว่ามันไม่คุ้มกันที่จะให้เขาไปลำบาก ในขณะที่ตอนนี้เขาอยู่ในบ้าน ตื่นเช้ามาก็เดินดูสบายๆ”

สำหรับใครที่อยากมาชมสวนวานิลลาก็ให้นัดล่วงหน้าผ่านทางเพจ Vanilland Family Farm ได้นะ

สวนวานิลลา

อนาคตและความคาดหวัง

“อนาคตอยากจะทำไอศกรีมวานิลลาเพราะปัจจุบันระบบขนส่งดีขึ้นมาก หรือไม่ก็ไปผูกปิ่นโตจับคู่กับแบรนด์ก็ได้ และก็หวังว่าวันหนึ่งมันจะสามารถสร้างรายได้มากพอให้ที่จะดูแลคุณตาคุณยายได้ แต่ถ้าทำไม่ได้ก็เป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้เราได้อยู่กับครอบครัว” คุณแอน กล่าวทิ้งท้าย

ไม่น่าเชื่อเลยว่า ในระหว่างที่หากิจกรรมสำหรับตัวเองและครอบครัว สุดท้ายวานิลลาข้างบ้านจะก็กลายเป็นกิจกรรมเดียวกันที่ทุกคนสามารถทำร่วมกันได้อย่างลงตัว และนอกจากจะสร้างรายได้แล้วยังสร้างความสัมพันธ์ระหว่างคนในครอบครัวได้อย่างดีอีกด้วย

เรื่อง : กิตตินัย อัศวเลิศลักษณ์

ภาพ : อนุพงษ์ ฉายสุขเกษม

วานิลลา แมคคาเดเมีย กาแฟ 3 พืชเศรษฐกิจมูลค่าสูงจากโครงการพัฒนาดอยตุงฯ

วานิลลา ปลูกได้ในประเทศไทย ให้ผลผลิตราคาสูงถึง 20,000 บาทต่อกิโลกรัม