ชวนมาฮีลใจด้วยหม้อไฟอุ่นๆ เนื้อสุดฉ่ำ และขาดไม่ได้เลยผักสดปลูกเอง กับร้าน ชาบู ที่เสิร์ฟผักแบบออร์แกนิก ที่ชูรสชาติของวัตถุดิบให้โดดเด่น โดยจะเน้นวัตถุดิบโฮมเมดที่ทำเองปลูกเอง พร้อมกับบรรยากาศของร้านที่ร่มรื่นข้างแปลงผัก กับ GROOT hotpot ชาบูหม้อไฟที่ปลอดภัย ที่ ซอยทวีวัฒนา 33 กรุงเทพฯ
Groot HotPot ชาบูหม้อไฟแห่งนี้เกิดขึ้นจากที่ คุณไบร์ท – สิตราวัชร์ พนาวิวัฒนาการ หุ้นส่วนร้านแห่งนี้ ผู้ที่เห็นถึงความสำคัญของการทำเกษตรในเมือง จากในช่วงที่โรคโควิดระบาดหนัก คุณไบร์ทเล่าว่า “ช่วงที่เข้าโควิด ทุกอย่างมันเปลี่ยนไปหมด เราออกไปไหนไม่ได้ ทำให้ผมรู้สึกว่าสิ่งที่สำคัญที่สุด คือ อาหารการกิน สมมุติว่าเกิดอะไรขึ้น อย่างน้อยเราก็ยังสามารถปลูกผักไว้กินเองได้ ก็เลยหันมาศึกษาเรื่องปลูกผัก”
ประกอบกับที่คุณไบร์ทมีโอกาสได้ไปทานผักออร์แกนิกที่จังหวัดเชียงใหม่ แล้วพบว่ารสชาติผักออร์แกนิกมันแตกต่างจากผักที่กินในตลาดทั่วไป จึงได้เริ่มลงมือจริงจังปลูกผักบนโต๊ะเล็กๆ ไว้รับประทานในครอบครัวสู่จุดเริ่มต้นของธุรกิจร้านอาหาร
“ช่วงแรกที่ทำรู้ได้เลยว่า แค่ปลูกอย่างเดียวก็เหนื่อยแล้ว และ ยิ่งถ้าเราไม่ทำการตลาดอะไรเลย ผักที่ได้มาไม่รู้จะขายที่ไหน สุดท้ายผักที่ผมตั้งใจปลูกก็ต้องแจกฟรี และ ถ้าไปส่งขายที่อื่นเราควบคุมคุณภาพไม่ได้ สู้ทำร้าน ชาบู เองเพื่อให้คนที่มาได้กินรสชาติของวัตถุดิบที่อร่อยดีกว่า”
“ผมอยากทำฟาร์มที่มีคุณค่าของผักมากที่สุด นำเสนอในรูปแบบที่เข้าถึงง่าย มีห้องเย็นให้เข้าไปตักผัก ทันสมัย ตกแต่งสวยงาม ส่วนที่เลือกทำ ชาบู เพราะชูรสชาติของผักได้ดี เพียงแค่จุ่มก็สามารถชิมรสชาติความสดความหวานจากผักได้เลย แล้วคนก็ชอบ ลูกค้ามาซ้ำ ก็รู้สึกว่ามาถูกทางแล้ว ส่วนที่ร้านชื่อ Groot มาจากคำว่า Root ที่แปลว่า รากฐาน รากต้นไม้ เราอยากให้มัน Good ด้วย ให้เป็นรากฐานที่ดี ก็เลยกลายเป็น Groot”
เมนูที่ร้านมีน้ำซุปหมาล่า น้ำซุปหอยเชลล์อบแห้ง ซุปปลาโอ ซุปต้มยำ ซึ่งทางร้านจะซื้อวัตถุดิบมาคั่วมาต้มทำเอง เองทั้งหมด เพื่อให้สอดคล้องกับผักที่ปลูกเองด้วยเช่นกัน
ระหว่างที่ศึกษาคุณไบร์ทก็ได้ลองผิดลองถูกมาเกือบปี ซึ่งกว่าจะปลูกรอบผักได้สักรอบหนึ่ง ซึ่งแต่ละฤดูก็ดูแลไม่เหมือนกัน มีศัตรูพืชที่ไม่เหมือนกันด้วย หลักการของคุณไบร์ท คือ ทำดินให้ดี ย้ายที่ปลูกชนิดผักทุกครั้ง และสุดท้ายปลูกผักตามฤดูกาล ที่ต้องย้ายปลูกก็เพราะเวลาปลูกพืชเดิมซ้ำ ธาตุอาหารเดิมๆ ก็จะหายไปทำให้ต้นอ่อนแอ เวลามีเชื้อรามาก็เข้าทำลายได้ง่าย
“สูตรดินที่ใช้ ดิน 50% ปุ๋ยคอก 50% หมักทิ้งไว้ให้เกิน 1 เดือน บำรุงด้วยน้ำปุ๋ยหมักจากมูลควาย และ จุลินทรีย์สังเคราะห์แสง ที่ผมไปเรียนมาพอลองแล้วมันเวิร์ค คือ ขี้วัวที่ใช้มาจากชาวบ้านที่เลี้ยงวัวแบบธรรมชาติ ขี้วัวมันจะโอเค แล้วก็หมักแค่นั้นก็ใช้ได้แล้ว”
“ตอนแรกผมก็ไม่ได้คิดว่าจะมาปลูกผักเพราะว่าผมก็เป็นคนเมือง แต่พอมีโควิดก็เลยหันมาปลูกผัก ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่คาดคิดว่าจะมาทำ จึงเป็นชื่อนี้ Unplant farm”
“ผักที่ปลูกแบ่งเป็น ผักที่คนชอบทาน ได้แก่ ผักบุ้ง กวางตุ้ง ผักกาด ยอดอ่อนทานตะวัน แครอท เบบี้ฮ่องเต้ โมโรเฮยะ ใบหม่อน ใบตำลึง วอเตอร์เครส ซึ่งชนิดของผักจะขึ้นอยู่กับฤดูกาล กับผักที่ใช้ทำน้ำซุป และ เครื่องปรุง ได้แก่ พริก หัวไชเท้า ฟัก ฟักทอง ต้นหอมญี่ปุ่น ต้นหอมไทย ผักชี”
“ตะกร้าตักผัก มี 3 ไซส์ เล็ก กลาง ใหญ่ ชอบกินผักเยอะผักน้อยก็เลือกตักกันได้ตามสบาย ชนิดของผักก็ขึ้นอยู่กับฤดูกาล ผมอยากให้ได้ฟีลแบบ Local ให้เป็นผักที่หาทานได้ยาก คนก็จะรออยากทานกัน”
สัตว์เลี้ยงภายในฟาร์มมี ไก่ไข่สายพันธุ์ไฮบริดที่ให้ไข่เก่งเลี้ยงง่ายสำหรับเก็บไข่ไปทำชาบู โดยลูกค้าสามารถเข้ามาให้อาหารไก่ได้ ชุดละ 20 บาท และ จากที่เคยไปมาหลายที่ ขอบอกเลยว่าน้องไก่ที่นี่ตัวกลมปุ๊กลุกมาก
“ลุงเล่าให้ฟังว่า วิธีกระตุ้นไก่ให้ไข่ดก ให้เราผสมเทียมไก่โดยใช้มือไปกระตุ้นตรงอวัยวะเพศไก่ ถ้าทำถูกจังหวะไก่จะกระพรือปีก แล้วเป็นทุกตัวเลยนะ พอทำเสร็จจะช่วยให้ไก่ไข่ดก โดยสายพันธุ์ไก่ดูจากหนังสือเลือกสายพันธุ์ที่ให้ไข่ดก และ ก็เลี้ยงง่าย แต่ถ้าไก่ไข่กินเยอะเกินก็จะอ้วนทำให้ออกไข่น้อยลง”
“ส่วนเต่าเอามาน่ารัก และ ชอบเลยเลี้ยงส่วนตัว แล้วผมก็ทดลองอยากเอาขี้เต่ามาทำปุ๋ยนะ เพราะเต่ามันกินผักตลอดเวลาเลย ตอนนี้กำลังสะสมขี้เต่าอยู่แล้วจะลองมาหมักปุ๋ยดู ถ้ามันเวิร์คก็อาจจะไปดีลฟาร์มเต่าเพื่อไปขอซื้อขี้เต่า”
“ผมไปเรียนมาอย่างเดียว พอมาหน้างานมันไม่ใช่ มันต้องใช้ประสบการณ์หลากหลายมาช่วยด้วย ตอนนี้ผมยังอยู่ช่วงเรียนรู้ ก็มีใช้สูตรตามหนังสือบ้างลองอยู่เรื่อยๆ อย่างโต๊ะปลูกผักตอนแรกผมเน้นสวยอย่างเดียว ฟังก์ชั่นการปลูกผักพอได้ แต่พอเวลาผ่านไปสักพักโดนน้ำแช่ก็ค่อยๆ ผุพังไป”
พอคุณไบร์ทได้ปลูกมากขึ้นก็เจอปัญหาเยอะขึ้น ทำให้ต้องหาคนที่มีประสบการ์มาช่วยดูแลผักในฟาร์ม
“ที่ผมเรียนตามยูทูปตามฟาร์มมา ก็รู้แล้วว่าที่เรียนมามันใช้ได้ส่วนหนึ่ง หน้างานของฟาร์มแต่ละที่ไม่เหมือนกัน ดินไม่เหมือนกัน เราผสมผิดหลายสูตรมาก และ บางทีเราไม่ได้อยู่ตลอด ก็เลยต้องหาคนมาช่วย ผมเลยได้ลุงเฉลี่ยวมา เขาเคยทำฟาร์มที่อิสราเอลมา 10 กว่าปี”
พอเข้ามาก็เจอลุงเฉลี่ยว พอลุงรู้ว่ามาจาก บ้านและสวน Garden&Farm ลุงก็เล่าแบบที่ยังไม่ได้ถามอะไรเลย
ลุงเฉลี่ยว เล่าว่า “ถ้าพวกผักที่ปลูกง่ายทนแดดทนฝนหน่อย ก็จะเป็นผักไทย แล้วของเราเป็นออร์แกนิกทั้งหมด และ ผักจะตัดตอนอายุ 3 อาทิตย์ จะไม่ได้ปล่อยให้ต้นใหญ่เพื่อเอาน้ำหนัก แบบนี้ต้นมันจะนุ่ม กินอร่อยกว่า ก่อนหน้านี้ลุงปลูกผักอยู่กับกลุ่มเกษตรธรรมชาติ พอหลังจากนั้น ปี 2535 ลุงก็ไปทำงานที่อิสราเอล เคยเห็นกันไหม พื้นที่ขนาด 3 อำเภอทำกัน 2 คน ไปๆ มาๆ อยู่ 10 กว่าปี ได้ทำทั้งผัก ดอกไม้ องุ่น ได้อยู่กับนักวิชาการเขา ผักแบบนี้ต้องปลูกแบบนี้ ก็เลยรู้กับเขาไปด้วย พอเก็บเงินได้ ก็ไปซื้อที่หนองบัวลำพูนไปปลูกผัก ก็คิดว่าเก่งแหละ ก็หมดไปหลายบาทอยู่ 555”
สำหรับใครที่สนใจสามารถเดินทางเข้ามาฮีลใจกันได้ กับชาบูที่เสิร์ฟพร้อมผักออร์แกนิกแบบเต็มคำ ที่ Groot Hotpot ชาบูหม้อไฟที่ปลอดภัย ซอย ทวีวัฒนา 33 ถนนเลียบคลองทวีวัฒนา ปากซอย ตรงข้ามวังทวีวัฒนา กรุงเทพฯ
เรื่อง : กิตตินัย อัศวเลิศลักษณ์
ภาพ : ฤทธิรงค์ จันทร์ทองสุข / Groot Hotpot
Tammada Garden ฟาร์มออร์แกนิก ที่ส่งสินค้าเกษตรในรูปแบบ “ผูกปิ่นโต”
Organ by Smart Nine Farm ฟาร์มคาเฟ่ของพยาบาลที่มาเป็นคนปลูกผัก