แปลงผักบนดาดฟ้า ของครูสอนโยคะที่อยากกำจัดขยะอาหาร

“อยู่บ้านฟาร์ม” สวนผักที่มี แปลงผักบนดาดฟ้า บนโรงกลึงเหล็กอาคารพานิชย์อายุกว่า 30 ปี ท่ามกลางบริบทที่แวดล้อมด้วยอุตสากรรมโรงกลึงซึ่งเป็นอาชีพดั่งเดิมของชุมชนแห่งนี้

การปลูกผักทำ แปลงผักบนดาดฟ้า ไม่ใช่เป้าหมายที่เกิดจากความตั้งใจแรกของคุณฝ้าย ปวริศา สุวรรณสม เพราะจุดเริ่มต้นของเรื่องทั้งหมดมาจากความพยายามกำจัดขยะอาหาร ซึ่งเธอแยกขยะในครัวเรือนเป็นปกตินิสัย ขวดพลาสติก ขยะอันตราย ขยะรีไซเคิล ทุกอย่างมีเกณฑ์การแยกชัดเจน แต่พอเป็นขยะอาหารการจัดการไม่ใช่เรื่องง่ายนักซึ่งวิธีที่เธอเลือกทำคือต้องเปลี่ยนเป็น “ปุ๋ยหมัก” และเริ่มเรียนรู้ขั้นตอนการทำให้สำเร็จ

แปลงผักบนดาดฟ้า

เปลี่ยนขยะอาหารเป็นปุ๋ย แปลงผักบนดาดฟ้า

ความตั้งใจแน่วแน่ในการเลือกกำจัดขยะอาหาร พาสู่การทดลองที่อาจจะเรียกได้ว่าเป็นการสุ่มเดาลงมือทำ แต่เริ่มต้นมันไม่ได้ง่ายอย่างที่คิดกว่าจะเป็น แปลงผักบนดาดฟ้า

“ตอนแรกเลยเราก็ลองทำมั่วๆ ไปค่ะ ดูจากยูทูบ อ่านวิธีทำจากอินเตอร์เน็ต ลองเจาะถังต่อท่ออากาศ ผลคือมันเน่าค่ะ ไม่เป็นปุ๋ย ทำอยู่ปีกว่าๆ ก็ไม่ประสบผลสำเร็จสักที พอพี่สาวเห็นว่าเราหมกหมุ่นอยู่กับการทำปุ๋ยหมัก เขาเลยแนะนำให้ไปเข้าอบรมกับ Bangkok Rooftop Farming (BRF) ตอนนั้นเปิดอบรมผู้ประกอบการการเกษตรอินทรีย์ สอนการทำดินเปลี่ยนขยะอาหารให้เป็นปุ๋ยหมัก สอนการปลูกผักตั้งแต่กระบวนการเพาะกล้า ในกลุ่มก็มีทั้งคนทั่วไปที่สนใจจะปลูกผักและคนทำเกษตรปลูกผักขายซึ่งทำจริงจังมากกว่าเราเยอะ พอไปตรงนั้นได้เรียนรู้ใหม่จากผู้รู้จริงๆ ได้ปรึกษาเครือข่ายที่มีประสบการณ์ และพร้อมจะแก้ปัญหาไปพร้อมๆ กับเรา ปุ๋ยหมักจากเศษอาหารจึงสำเร็จผลค่ะ”

Bangkok Rooftop Farming (BRF) เกิดจากกลุ่มคนรุ่นใหม่รวมตัวกันจัดตั้งเป็นองค์กรที่มุ่งกำจัดขยะอาหาร บนดาดฟ้าของตึกเซ็นเตอร์ โดยเปลี่ยนขยะอาหารเป็นปุ๋ยหมักผ่านกระบวนหลากหลายแบบ ทั้งเครื่องปั่นปุ๋ยที่ใช้กำลังมือในการปั่น และใช้เทคโนโลยีเครื่อง Cow Tech และเป็นผู้คิดค้นเครื่อง Wastegetable Machine ใช้เวลาย่อยสลายเศษอาหารเพียงแค่ 1 คืนจะได้ปุ๋ยหมักนำไปหมักและบ่มกับวัสดุปลูกอื่นๆ อีก 7-14 วัน ติดต่อสอบถามได้ที่ 092 691 5051 หรือ Facebook : bangkokrooftopfarm

แปลงผักบนดาดฟ้า

ข้อจำกัดเรื่องพื้นที่ เทคโนโลยีและสิ่งประดิษฐ์ช่วยได้

ใกล้ ง่าย สะดวก เป็นเหตุผลหลักที่ทำให้คุณฝ้ายเลือกใช้ดาดฟ้าอาคารพานิชย์เป็นทำเลที่ตั้งของสวนผักของเธอ แต่พอลงมือทำจริง อุปสรรคเรื่องพื้นที่ก็มีมาให้แก้อยู่เรื่อยๆ

“ตอนแรกดาดฟ้าตึกเป็นที่เป็นโรงย้อมผ้า แล้วมีมุมซักผ้าที่มีอ่างน้ำแล้วคนงานก็ปลูกต้นไม้บางส่วน ทำให้หญ้าขึ้นจำนวนมาก ฝ้ายก็เริ่มจากเคลียร์พื้นที่เองก่อนค่ะ ค่อยๆ จัดการทีละนิด ที่เลือกพื้นที่บนดาดฟ้า เพราะเราทำงานอยู่ในตึกนี้อยู่แล้ว มาที่นี่ทุกวัน ดูแลง่ายใกล้ ใช้ประโยชน์ได้ มีพี่พนักงานเป็นลูกมือช่วยดูแลรดน้ำผักให้ในวันที่เรายุ่งๆ ด้วย ให้เขาได้มีส่วนร่วมกับสวนตรงนี้ ผักที่ปลูกก็ให้เขาเก็บกินได้”

เหมือนทุกอย่างจะลงตัวแต่พอลงมือทำในแต่ละขั้นตอน อุปสรรคเริ่มผุดทีละนิดเริ่มจากการขนย้ายวัสดุปลูกอย่างมูลม้าที่มีน้ำหนักมาก การขนย้ายอุปกรณ์ปลูก ซึ่งเธอแก้ปัญหาด้วยการใช้ “รอกไฟฟ้า” ช่วยขนย้าย

“รอกไฟฟ้าให้พี่คนงานทำให้ค่ะ ด้วยความที่เราทำโรงงานกลึงเหล็กจึงมีช่างอยู่ในมือจึงรบกวนให้เขาช่วยทำให้ เวลาใช้ก็เชื่อมต่อไฟฟ้า แขวนตะกร้าขนย้ายแล้วกดสั่งให้หย่อนลงไปข้างล่าง ยกของใส่ตะกร้ากดสั่งยกขึ้นมาชั้นบน เท่านี้ก็สะดวกขึ้นแล้ว”

มูลสัตว์หายากแต่ต้องหาง่าย

ปุ๋ยคอก มูลสัตว์ เป็นส่วนหนึ่งในองค์ประกอบการหมักปุ๋ย แต่สำหรับคนเมืองที่อยู่ห่างไกลจากแหล่งเลี้ยงสัตว์ยากต่อการจัดหา เช่นเดียวกับคุณฝ้ายที่การสรรหาปุ๋ยคอกไม่ใช่เรื่องง่ายเสียทีเดียว แต่โชคยังดีที่เครือข่ายพาเธอไปรู้จักแหล่งมูลสัตว์ที่สะดวกต่อเธอ

“ในกระบวนการย่อยเศษอาหารต้องใช้ปุ๋ยคอกเป็นส่วนประกอบค่ะ แต่สำหรับคนเมืองอย่างเราจะหาได้จากไหน จะซื้อที่มีขายตามตลาดต้นไม้ก็ราคาสูงค่ะเพราะใช้ในปริมาณมาก จึงปรึกษากับพี่ๆ ในเครือข่ายเขาก็แนะนำแหล่งให้ เป็นมูลม้าจากคอกม้าที่อยู่ใกล้ๆ บ้านเองค่ะ เขาให้ฟรีๆ แค่ต้องไปเก็บก่อน 6.30 น.ของทุกวัน กลายเป็นเราได้ประโยชน์สองต่อเลยค่ะ นอกจากจะได้ปุ๋ยคอกจากการแบ่งปันแล้ว ขี้ม้ายังมีจุลินทรีย์ที่เป็นโยชน์ต่อการย่อยสะลายด้วย”

มูลม้า ประกอบด้วยธาตุอาหารหลัก N 0.90% P 0.91% K 0.26% ที่จำเป็นต่อการเติบโตของพืชและประกอบด้วยแคลเซียม แมกนีเซียม และกำมะถัน ซึ่งเป็นธาตุอาหารรอง  ตามแหล่งชุมชนเมืองหลายแห่งหาได้ง่ายกว่ามูลวัว หรือมูลไก่ ทั้งนี้สามารถเลือกใช้ตามความสะดวกในการหาวัตถุดิบได้ 

จากใช้ระยะเวลาเป็นปี ลดเหลือแค่ 1 เดือน ก็ได้ดินคุณภาพที่ใช้ปลูกผักได้หลังจากที่รู้แก่นของการเปลี่ยนขยะอาหารให้เป็นปุ๋ยซึ่งเธอใช้ส่วนประกอบ 3 อย่างหลักๆ ด้วยกันคือ ขยะอาหาร 1 ส่วน ขี้ม้า 1 ส่วน และ ฟางข้าว 3 ส่วน คลุกผสมกันในกองดิน รดน้ำให้ชุ่มแล้วกลับกองทุกๆ 5 วัน เพียงเท่านั้นก็ได้ปุ๋ยหมักจากเศษอาหาร

“ตอนแรกที่ทำก็กลัวว่าจะมีแมลง มีกลิ่นค่ะ แต่พอเรารู้วิธีจัดการก็ไม่ใช่อย่างที่คิด ปุ๋ยหมักที่ทำอย่างถูกต้องจะมีแมลงนิดหน่อย แต่ไม่มีกลิ่นรบกวนเพราะส่วนผสมที่ใช้ การเติมออกซิเจน บวกกับการรดน้ำสม่ำเสมอ กองปุ๋ยต้องชื้น ใช้น้ำเป็นตัวทำให้จุลินทรีย์ให้กระจายไปทั่ว การพลิกกองที่เป็นการเติมออกซิเจนเข้าไป อากาศหมุนเวียนก็จะไร้กลิ่นรบกวนค่ะ”

นอกจากเรื่องการขนย้ายปัญหาที่เจอหนักๆ คือ แมลงศัตรูพืชโดยเฉพาะช่วงหน้าร้อนที่ผ่านมาเจอเพลี้ยไฟรุมต้องคอยฉีดน้ำส้มควันไม้กำจัดทุกวัน แต่ตอนนี้เริ่มมีนิเวศดีขึ้น มีผึ้ง เข้ามาดูดกินน้ำหวานจากดอกไม้ ดอกผัก กลิ่นแรงๆ ของผักบางชนิดช่วยกำจัดได้อีกทาง

ลมแรง แดดแรง แก้ได้

ในช่วงที่อากาศร้อนมากๆ คุณฝ้ายเพิ่มช่วงเวลาในการรดน้ำเป็น เช้า กลางวัน เย็น เพื่อให้พืชผักไม่ขาดน้ำส่วนปัญหาเรื่องลมยังคงเป็นปัจจัยที่ต้องเรียนรู้และปรับตัวอยู่เสมอ

“ตอนแรกๆ ขึ้นมาบนดาดฟ้าตกใจเลยค่ะ กระถางผักที่อยู่อีกมุมปลิวไปอยู่อีกมุมตึกเพราะลมพัด เราจึงหาทางแก้ง่ายๆ คือย้ายตำแหน่งโรงเรือนให้ไปอยู่ในทิศใต้ค่ะซึ่งเป็นทิศที่ลมพัดมาแล้วให้ตั้งอาคารโรงเรือนช่วยบังลมไว้ กระถางผักที่มีความสูงก็ย้ายให้เป็นใกล้ๆ โรงเรือนค่ะ แล้ววางตำแหน่งโต๊ะผักที่ค่อนข้างมีน้ำหนักไว้รอบๆ ส่วนผักกระถางเล็กก็วางไว้ในตำแหน่งหลบลม”

“ตอนที่จะสร้างโรงเรือน เราก็ลงมือออกแบบเองค่ะ หาข้อมูลค่ะว่าจะใช้วัสดุอะไรดีซึ่งไม่ค่อยมีแหล่งที่บอกไว้ละเอียดจึงสร้างกลุ่มในเฟซบุ๊คขึ้นชื่อ ‘คนสร้างโรงเรือนกรีนเฮ้าส์’ เพื่อให้คนที่อยากสร้างโรงเรือนเหมือนกันมาแชร์ข้อมูลกัน กลายเป็นพื้นที่ปรึกษาหารือและมีช่างที่สร้างโรงเรือนมาร่วมเป็นสมาชิกแล้วแชร์ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ให้กันด้วย โรงเรือนของฝ้ายจึงสำเร็จอย่างที่เห็น”

แปลงผักบนดาดฟ้า

โรงเรือนอย่างง่ายที่ใช้เป็นที่หลบภัยแมลงศัตรูพืช ต่อโครงเหล็กแป๊บเป็นโครงสร้าง หุ้มด้วยมุ้งไนล่อน 20 ตา กันแมลงและระบายลมเข้าออกได้ เป็นที่อยู่ของกล้าผักและที่หลบแมลงของต้นเคลที่กำลังโดนเพลี้ยเล่นงานในตอนนี้ 

ปลูกให้ถูก จะได้มีกำลังใจ

คุณฝ้ายเล่าต่อว่า การเลือกชนิดพันธุ์ผัก เรียนรู้จากคำแนะนำของ BRF ที่ให้ปลูกผักตามฤดูกาล จะทำให้ปลูกง่ายและมีกำลังใจปลูกต่อ ตอนนั้นเป็นช่วงปลายปีพอดี เข้าฤดูหนาว จึงเลือกปลูกผักสลัด ซึ่งก็ได้ผลดีจริงๆ ผักสวยเติบโต ทำให้มีกำลังใจในการปลูกมากๆ

“เกณฑ์ที่ใช้เลือกชนิดผักอย่างต่อมาคือ เลือกผักที่เราชอบกินค่ะ ฝ้ายชอบกินมะเขือเทศ จึงเริ่มปลูกมะเขือเทศก่อน ตอนหน้าหนาวซึ่งให้ผลดี แมลงน้อย แล้วก็มีบวบ ผักปลัง ฟักทอง เป็นผักที่เราชอบกิน ตอนนี้มีปณิธานใหม่คือจะปลูกผักที่อยู่ในเมนูอาหารที่ชอบกิน อย่างแกงเห็ด ตอนนี้ก็เริ่มปลูกเห็ด ผักชีลาว อะไรแบบนี้ค่ะ”

แปลงผักบนดาดฟ้า

ภาชนะปลูกที่หลากหลายแต่ขนย้ายสะดวก

เพราะนี่คือสนามทดลองการทำปุ๋ยหมักบนอาคารเก่าที่ไม่ได้ปรับปรุงโครงสร้าง พืชผักส่วนใหญ่จึงเลือกปลูกในภาชนะที่สามารถขนย้ายได้ง่าย มีน้ำหนักเบา ไม่ว่าจะเป็นโต๊ะปลูก กระถาง ถุงปลูก โดยมีเกณฑ์การเลือกง่ายๆ

“พวกผักอายุสั้นจะปลูกในถุงปลูก แต่หากเป็นผักที่เก็บกินได้นานหรือผักกินผลจะปลูกในกระถาง ส่วนแปลงโต๊ะปลูกจะเป็นพวกผักสลัดค่ะ ส่วนใหญ่จะปลูกในภาชนะเพราะขนย้ายได้ง่าย บวกกับอาคารนี้เป็นอาคารเก่าจึงพยายามควบคุมน้ำหนักของอุปกรณ์ เลือกที่น้ำหนักเบา ใช้งานสะดวกค่ะ”

แปลงผักบนดาดฟ้า
แปลงผักบนดาดฟ้า

ลมใต้ปีก คือแรงผลักสำคัญ

“การมีเครือข่ายช่วยได้เยอะเลยค่ะ อย่างในโซเชียลมีเดียมีกลุ่มที่หลากหลายมาก แต่เราไม่รู้ว่าจะเชื่อข้อมูลเหล่านั้นได้มากแค่ไหน พอมีเครือข่ายเป็นผู้เชี่ยวชาญ เป็นคนที่ลงมือทำจริงๆ มีประสบการณ์จริง และเขาก็พร้อมจะแก้ปัญหาไปกับเรา มันเลยช่วยให้เรามาถูกทางค่ะ บวกกับแรงสนับสนุนของพี่สาวที่เป็นที่ปรึกษาและซัพพอร์ตเตอร์ชั้นดีทำให้เรามองเห็นลู่ทางว่าจะทำอะไรในสเต็ปต่อไป”

บันไดขั้นต่อไปของนักปลูกมือใหม่เธอบอกว่า อยากจะมีร้านอาหาร อยากทำร้านอาหารแบบ Easy to eat ที่มีผักสลัดปลูกเอง อยากทำให้เห็นว่าแค่โต๊ะปลูกผักเล็กๆ ขนาด 1x 0.80 เมตร ก็ปลูกผักกินเองได้เป็นเดือน กินได้ตลอดปี ซึ่งบางคนอาจจะติดภาพว่าจะต้องปลูกผักลงแปลงดินเท่านั้น

หนังสือ Farm House สวนเกษตรในบ้าน

ติดตามเรื่องราวของคุณฝ้ายและนักปลูกคนอื่นๆ เพิ่มเติมได้จากหนังสือ Farm House สวนเกษตรในบ้าน

เรื่อง JOMM YB

ภาพ ศุภกร ศรีสกุล

รวม 50 ฟาร์มรู้คู่สวน แนวทางสำหรับเกษตรกรมือใหม่

รวม 10 ชนิด ผักไทย ปลูกได้ในกระถาง พร้อมเคล็ดลับวิธีปลูก