ปลูกผักในช่วงฤดูร้อน ให้รอดด้วย 10 เคล็บลับเหล่านี้

เมื่ออุณหภูมิเริ่มสูงขึ้นบ่งบอกถึงจุดเริ่มต้นของฤดูร้อนอย่างเป็นทางการ และ ถึงแม้ว่าประเทศไทยส่วนใหญ่จะมีอากาศร้อนตลอดปี แต่การ ปลูกผักหน้าร้อน หรือ ช่วงฤดูกาลอื่นๆ ก็แตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด รวมถึงปัญหาที่พบด้วย เช่นกัน ทั้งจากแมลงศัตรูพืชที่เยอะผิดปกติ และ อากาศร้อนจนพืชผักเหี่ยวเฉา  

ดังนั้น การ ปลูกผักหน้าร้อน จึงเริ่มตั้นตั้งแต่ การคัดเลือกชนิดพืชที่เหมาะสม วิธีการกำจัดแมลงที่ได้ผลอย่างปลอดภัย รวมถึงดูแลไม่ให้ผักเหี่ยวในช่วงที่อากาศร้อน ก็จะช่วยให้ปลูกผักได้อย่างประสบผลสำเร็จได้ไม่ยาก

ปลูกผักหน้าร้อน

1 I ปลูกผักหน้าร้อน : เลือกชนิดพืชที่ทนต่ออากาศร้อน

เป็นขั้นตอนแรกเลยที่เป็นตัวกำหนดว่า การดูแลพืชผักในช่วงนี้จะดูแลง่ายหรือยาก ถ้าในโหมดง่ายก็ให้เลือกผักใช้น้ำน้อย และทนต่ออากาศร้อนได้ดี เช่น ฟักทอง แตงกวา บวบ ชะอม ดอกแค คะน้า มะเขือเปราะ กระเจี๊ยบเขียว มะระ ข้าวโพด รวมถึงเลือกปลูกผักพื้นบ้าน เช่น ตำลึง กะเพรา โหระพา แมงลัก ถั่วพู ข่า ตะไคร้ สะระแหน่ พริก ก็ได้เช่นกัน เนื่องจากปรับตัวเข้ากับอากาศหน้าร้อนได้ดี ดูแลน้อย ทนโรคและแมลง

ปลูกผักหน้าร้อน

2 I ปลูกผักหน้าร้อน : ใช้ซาแรนพรางแสงเพื่อลดความร้อน

สำหรับคนที่ไม่อยากปลูกผักพื้นบ้าน หรือ ผักที่ทนร้อน ก็จะเข้าสู่โหมดยาก เพราะ สภาพอากาศที่ร้อนจัดจะทำให้พืชต้องการการดูแลเป็นพิเศษ เช่น ผักสลัด เคล สมุนไพรฝรั่ง ต้นหอม ผักชี ขึ้นฉ่าย เป็นต้น ซึ่งหนึ่งสิ่งที่สำคัญมาก คือ การลดความร้อนของแสงแดดลง โดยให้ใช้เป็นซาแรนพรางแสงประมาณ 50% เพื่อลดคความร้อนที่ตกกระทบลงสู่พืช จะช่วยไม่ให้ต้นเหี่ยว หรือ ใบไหม้ได้

ปลูกผักหน้าร้อน

3 I ปลูกผักหน้าร้อน : ใช้ฟางข้าวคลุมดินเพื่อรักษาความชื้น

หลังจากที่รดน้ำไปแล้ว หากผิวดินสัมผัสกับแสงแดดโดยตรง จะทำให้หน้าดินแห้งได้อย่างรวดเร็ว และ หากปล่อยไว้ก็อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้พืชผักเหี่ยวจากอาการขาดน้ำได้ ซึ่งการใช้ฟางข้าวจะช่วยบดบังแสงแดดไม่ให้ดินแห้ง และรักษาความชื้นให้อยู่ได้นาน ช่วยลดอาการขาดน้ำของพืชลงได้

ปลูกผักหน้าร้อน

4 I เพิ่มรอบในการรดน้ำ

จากปกติที่รดน้ำช่วงเช้า-เย็น ให้เพิ่มรอบเป็นการรดน้ำในช่วงบ่าย จะช่วยให้พืชไม่เกิดอาการเหี่ยวระหว่างวันได้ แต่ต้องเช็คอุณหภูมิน้ำที่ใช้น้ำรดก่อนว่าร้อนหรือไม่ เนื่องจากน้ำที่ค้างอยู่ภายในสายยาง หรือ ท่อหากโดนแสงแดดจะร้อนมาก พอรดน้ำโดนพืชผักก็ไม่ต่างกับการนำผักไปลวก และ ข้อดีอีกอย่าง คือ ผักที่ได้รับการรดน้ำตอนบ่ายจะช่วยลดความเครียดลงจากอากาศที่ร้อนจัด ส่งผลให้ผักมีรสชาติที่ขมน้อยลงได้ โดยเฉพาะกับผักสลัด อีกทั้งช่วยลดจำนวนแมลงศัตรูพืชที่ชอบอากาศร้อน อย่าง เพลี้ยไฟลงได้

ไรแดงที่เกาะอยู่บนใบของต้นมะเขือเทศ

5 I ฉีดพ่นด้วยเชื้อราบิวเวอร์เรีย

ช่วงฤดูร้อนปฏิเสธไม่ได้เลยว่า เหล่าแมลงศัตรูพืชจะเยอะเป็นพิเศษ โดยเฉพาะกับ เพลี้ยแป้ง เพลี้ยอ่อน เพลี้ยไฟ ไรแดง ซึ่งสามารถป้องกันกำจัดได้ด้วย เชื้อราบิวเวอร์เรีย บาสเซียน่า (Beauveria bassiana) เป็นสารชีวภัณฑ์ที่นิยมใช้ในกลุ่มผู้ปลูกผักออร์แกนิก เพื่อใช้กำจัดแมลงในกลุ่มปากดูด วิธีใช้ให้นำไปฉีดพ่นทุกๆ 3-5 วัน เป็นประจำ ในช่วงตอนเย็นหลังจากที่รดน้ำไปแล้ว โดยเชื้อราจะเข้าไปในตัวของแมลง และ ทำให้ตายในที่สุด

ปลูกผักหน้าร้อน

6 I ใช้กาวดักแมลงจับศัตรูพืช

นอกจากสารชีวภัณฑ์ที่ช่วยลดศัตรูพืชได้แล้ว อีกหนึ่งเคล็บลับที่ช่วยได้ คือ การใช้กาวดักแมลง โดยแมลงจะถูกดึงดูดด้วยสีจากวัสดุ พร้อมกับกลิ่นสำหรับล่อแมลง ที่พอศัตรูพืชเข้ามาเกาะจะทำให้ติดหนึบกับกาวเหนียวจนทำให้ออกไปกินพืชผักต่อไม่ได้ ใช้กำจัดแมลงศัตรูพืชอย่าง เพลี้ยไฟ ด้วงหมัดผัก ผีเสื้อกลางคืน แมลงหวี่ขาว เป็นต้น

7 I ใช้สมุนไพรกลิ่นฉุนทำกับดักล่อแมลงวันทอง

แมลงศัตรูพืชที่พบเจอไม่ใช่แค่ว่าจะเจอเฉพาะในผักทานใบเท่านั้น แต่รวมถึงพืชที่ให้ผลด้วย โดยเฉพาะในช่วงฤดูร้อนแมลงวันทองระบาดมาก ซึ่งศัตรูพืชชนิดนี้จะวางไข่ในผลของพืช ไม่นานนักตัวหนอนจะกินเนื้อภายในผล ทำให้ผลเน่า สามารถวางไข่ได้ทั้งใน มะเขือเทศ ฟักทอง พริก รวมถึงไม้ผลอย่าง มะม่วง ฝรั่ง ชมพู่ ละมุด พุทรา น้อยหน่า มะละกอ วิธีการทำกับดักล่อแมลงวันทอง เริ่มจากนำขวดพลาสติกมาเจาะรู แล้วนำสมุนไพรมาขยี้ใส่ไว้ในขวดพร้อมกับเติมน้ำ เพื่อให้แมลงวันทองตกลงไป

8 I ไม่ควรวางกระถางปลูกบนพื้นปูน

สำหรับพืชที่ปลูกในกระถางไม่ควรวางไว้บนพื้นปูน เนื่องจาก ความร้อนจากพื้นปูน โดยเฉพาะในช่วงฤดูร้อนจะมีอุณหภูมิสูง  ถ้าได้สัมผัสกับรากต้นไม้เป็นเวลานาน ก็มีโอกาสทำให้รากพืชเสียหายได้ หรือ แม้กระทั่งช่วงเย็นก็ไม่ควร เพราะ พื้นปูนสะสมความร้อนมาทั้งวัน และ จะคลายความร้อนออกมาในช่วงเย็น ทางที่ดีควรมีวัสดุกั้นระหว่างพื้นปู เช่น แผ่นไม้ เพื่อไม่ให้ความร้อนจากพื้นปูนสัมผัสกับรากต้นไม้ หรือ วางกระถางบนพื้นดิน เนื่องจากดินไม่ร้อน ไม่ทำลายรากต้นไม้

9 I เลือกใช้ภาชนะที่ไม่สะสมความร้อน

ส่วนวัสดุของกระถางที่ควรหลีกเลี่ยงในช่วงอากาศร้อน คือ ดินเผาและเหล็ก เนื่องจากดินเผามีรูพรุนที่ทำให้ดินแห้งไว ส่วนเหล็ก เป็นวัสดุที่นำความร้อนได้อย่างดี จึงทำให้วัสดุปลูกภายในร้อนจนอาจทำให้รากเสียหายได้ วัสดุกระถางที่แนะนำ คือ กระถางพลาสติกสีขาว ซึ่งสามารถรักษาความชื้นได้ดี แล้วสีขาวยังช่วยลดอุณหภูมิภายในกระถางไม่ให้ร้อนเกินไปอีกด้วย หรือ วัสดุจากไม้ เนื่องจากไม้เป็นฉนวนความร้อน จึงช่วยให้ผักไม่เหี่ยวจากความร้อนสะสมภายในนั่นเอง

10 I ตัดแต่งเพื่อลดการคายน้ำ

ใบทุกใบของพืชจะมีปากใบอยู่ ทำหน้าที่ เป็นทางเข้า-ออกของน้ำ และ คาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งการตัดใบ และ กิ่งที่ไม่จำเป็นออก สามารถช่วยลดการคายน้ำของพืชลงได้ และ ยังช่วยให้ทรงพุ่มโปร่งระบายอากาศได้ดีขึ้น ลดการสะสมของเชื้อโรค กำจัดจุดหลบซ่อนของแมลงศัตรูพืชต่างๆ รวมถึงช่วยให้พืชสามารถนำสารอาหารที่ได้ไปเลี้ยงผลได้ดีขึ้น ทำให้ผลที่ได้มีขนาดใหญ่สม่ำเสมอ

ผักที่สามารถตัดแต่งได้มักจะเป็นผักยืนต้นและทานผล ได้แก่ พริก มะเขือเปราะ มะนาว รวมถึงผักไม้เลื้อยอย่าง ฟัก มะระ แตงกวา มะเขือเทศ ถั่วฟักยาว ฟักทอง

โรคและแมลงศัตรู เพลี้ยต่างๆ ที่พบในฤดูร้อน

รู้จักองุ่นสายพันธุ์ทนร้อน ที่ปลูกและติดผลได้ง่ายๆ ข้างบ้าน