การปลูกไม้ยืนต้น ในระบบวนเกษตรไม่ใช่แค่เพียง ปลูกไม้ยืนต้น หรือต้นไม้ใหญ่บนที่ดินทำกินเท่านั้น แต่คือการใช้ประโยชน์ของที่ดินเพื่อจัดการนิเวศเกษตรเลียนแบบนิเวศธรรมชาติของป่าไม้ ผสมผสานกับกิจกรรมเกษตรอื่นๆ ให้เกิดความหลากหลายในแปลง
แม้ว่าภาพการ ปลูกไม้ยืนต้น เรียงเป็นแถวยาว จะเป็นรูปแบบการปลูกที่เหมือนจะง่าย ไม่มีอะไรซับซ้อน แต่รู้หรือไม่ ภายใต้ร่มไม้ที่ปลูกเรียงยาวนั้น เป็นหนึ่งในหลักการทำวนเกษตรที่สร้างนิเวศธรรมชาติให้เกิดการพึงพาอาศัยกัน ไม้ยืนต้นเหล่านั้นทำหน้าที่หลายอย่าง เช่น เป็นแนวกันลม ผลิตใบไม้เพื่อเป็นปุ๋ยอินทรีย์ ไปจนถึงดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ระบบวนเกษตรจึงเป็นหนึ่งเกษตรกรรมรักษ์โลกที่ส่งผลดีในระยะยาว เป็นการเพิ่มพื้นที่สีเขียว ไปจนถึงปลายทางที่เกษตรกรสามารถจำหน่ายไม้ยืนต้นเหล่านั้นต่อไปได้
ในความหมายของวนเกษตรตามคู่มือ Sustainable Agriculture Land Management (SALM) โดย Amos Wekesa and Madeleine Jönsson ระบุไว้ว่า เป็นการปลูกพืชเกษตร(ไม้ยืนต้น ไม้พุ่ม) ด้วยความตั้งใจให้เกิดความสัมพันธ์กับสิ่งต่างๆ อย่างปศุสัตว์ หรือพืชอาหาร เพื่อช่วยเพิ่มผลผลิตและลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ ซึ่งหากเกิดการเรียนรู้เพื่อจัดการพื้นที่จะสามารถใช้ประโยชน์จากไม้ยืนต้นได้อย่างเต็มที่
ไม่เพียงเท่านั้น วนเกษตร (Agroforestry) ในความหมายของคู่มือ หลักการและรูปแบบเกษตรกรรมยั่งยืน ระบุไว้ว่าเป็นเกษตรกรรมตั้งแต่ 2 กิจกรรมขึ้นไปในพื้นที่เดียวกัน ช่วงเวลาเดียวกัน หรือสลับช่วงเวลากันอย่างเหมาะสม โดยจะต้องมีกิจกรรมป่าไม้อยู่ในระบบ เกิดปฏิสัมพันธ์ระหว่างองค์ประกอบย่อยต่างๆ ทั้งเกิดขึ้นโดยธรรมชาติและการจัดการอย่างเหมาะสม ซึ่งจะช่วยให้การใช้ประโยชน์บนที่ดินเกิดประสิทธิภาพมากขึ้น
- ปลูกป่า ปลูกต้นไม้ นำมา ขายคาร์บอนเครดิต สร้างรายได้ระยะยาว
- รู้จักต้นยางนา กับ 6 ประโยชน์ที่น่าเหลือเชื่อ
การจัดการพื้นที่ปลูกป่า หรือ ไม้ยืนต้น สามารถจัดสรรให้เกิดปฏิสัมพันธ์กับการทำเกษตรแบบอื่นๆ ทั้ง ปลูกข้าว พืชไร่ หรือพืชผักสวนครัวอย่างไรบ้างนั้น ไปรู้จัก 7 แนวทางปลูกไม้ยืนต้นในพื้นที่เกษตรที่สามารถนำไปปรับใช้
1. Alley cropping ปลูกไม้ยืนต้น สลับเป็นซอยย่อย
เป็นการปลูกไม้พุ่ม หรือไม้พุ่มสูง เรียงเป็นแนวยาวในความถี่ระยะ 2 เมตร สลับกับการปลูกพืชล้มลุก เช่น ข้าวโพด และพืชอาหารสัตว์ ซึ่งแนวต้นไม้นี้จะทำหน้าที่กันลมไม่ให้ทำความเสียหายให้แปลงปลูกพืช
2. Trees with perennial crops ปลูกร่วมกับพืชอื่นๆ
หรือจะเรียกว่าปลูกไม้ยืนต้นให้เป็นพืชพี่เลี้ยง โดยปลูกพืชอื่นๆ ล้อมรอบ เช่น กาแฟ ผักหวานป่า โดยปลูกไม้ยืนต้นให้อยู่ตรงกลาง ล้อมทั้ง 4 มุมในระยะห่าง 3-4 เมตร
3. Wind trees ปลูกเป็นแนวกันลม
เป็นการปลูกสลับสับหว่างเพื่อไม่ให้เกิดช่องว่างที่ลมจะพัดผ่านได้ กำบังลมนี้จะชะลอความเร็วลม ลดความเสียหายรุนแรงในพื้นที่ปลูก ซึ่งต้นไม้ควรมีความสูงต่างกันและควรปลูกควบคู่ไปกับไม้พุ่มเพื่อให้มีระดับความสูงที่หลากหลาย
4. Contour trees ปลูกเป็นสเตปป้องกันหน้าดินพังทลาย
เป็นการปลูกต้นไม้บนพื้นที่ลาดเอียงเพื่อให้ต้นไม้ลดความเร็วของน้ำไหลบ่า ช่วยป้องกันหน้าดินไม่ให้พังทลาย การปลูกต้นไม้ใหญ่เป็นแนวขั้นบันไดจะไล่เป็นสเตป แถวล่างจะปลูกต้นไม้เป็นแถวแนวยาว ระยะห่างต้นละ 6 เมตร แถวที่สองจะเว้นระยะสูงชันจากแถวแรก 16 เมตร และแถวที่ 3 เว้นระยะสูงชันห่างจากแถวที่ 2 ประมาณ 8 เมตร
5. Home garden ปลูกแบบบ้านสวนผสมผสาน
เป็นการผสมผสานการทำวนเกษตร เข้ากับพื้นที่เกษตรกรรมอื่นๆ มีการปลูกพืชหลายๆ เช่น ผัก พืชไร่ สมุนไพร ไม้ผล โดยแนวการปลูกไม้ยืนต้นจะปลูกเป็นแนวกำแพงรอบรั้วสลับกับไม้พุ่มสูง ทั้งนี้จะต้องมีที่พักอาศัยและมีโรงเรือนปศุสัตว์รวมอยู่ด้วย
6. Silvopastures ปลูกในทุ่งหญ้าเพื่อสัตว์เกษตรแบบ
ซิลโวพาสเจอร์ เป็นการจัดการพื้นที่ปลูกไม้ต้น พืชอาหารสัตว์ ควบคู่การเลี้ยงสัตว์เกษตร ให้เกิดความยั่งยืน โดยปลูกไม้พุ่มสลับกับแปลงพืชไร่ แปลงหญ้าอาหารสัตว์ และมีแปลงผักอยู่ไม่ไกล แล้วจัดสรรส่วนต่างๆ เหล่านี้ให้เกิดประโยชน์เกื้อกูลกัน อาจจะปลูกเป็นกระจุกเพื่อปิดกั้นพื้นที่สำหรับสัตว์เลี้ยง หรือปลูกกระจายเพื่อให้แสงแดดส่องทั่วถึง พืชที่ปลูกสลับมักเป็นพืชตระกูลถั่วที่มีไนโตรเจนสูง หญ้าอาหารสัตว์
การเลี้ยงสัตว์แบบซิลโวพาสเจอร์ เป็นการลดการปล่อยก๊าซมีเทนที่เกิดจากการปศุสัตว์ ซึ่งมูลสัตว์ที่ปล่อยเลี้ยงจะเป็นปุ๋ยคอกให้กับต้นไม้ต่างๆ และพืชตระกูลถั่วจะช่วยตรึงไนโตรเจนในดิน ทำให้รากของต้นไม้ที่ปลูกจะได้รับสารอาหารที่จำเป็นต่อการเติบโต เป็นวิธีที่ประหยัด ใช้งบน้อย แต่ได้ผลผลิตเร็ว
7. Aquasilviculture ปลูกรอบบ่อน้ำ
เป็นรูปแบบของการปลูกไม้ยืนต้นที่ผสมผสานกับการเลี้ยงสระน้ำ โดยปลูกไม้ยืนต้นรอบๆ สระน้ำที่มีการเลี้ยงปลา เพื่อให้ใบไม้ร่วงลงเป็นอาหารของปลาได้ แนวต้นไม้รอบๆ บ่อน้ำจะช่วยพยุงหน้าดิน
แนวทางการปลูกไม้ยืนต้นในระบบวนเกษตรที่แนะนำทั้ง 7 แบบนี้ เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่นิยมในต่างประเทศเท่านั้น สำหรับเมืองไทย กรมป่าไม้ ได้จัดทำคู่มือเป็นแนวทางการปลูกไม้ยืนต้นเศรษฐกิจไว้เช่นกัน ซึ่งเราจะนำมาแนะนำในโอกาสต่อไป
เรื่อง JOMM YB
ภาพประกอบ ไผ่ตง