โจน จันใด เจ้าของแนวคิด “ชีวิตต้องง่าย” วลีนี้ไม่เพียงพูดถึงการทำบ้านดินที่ทำให้เรารู้จักผู้ชายคนนี้ แต่หมายถึงความเรียบง่ายที่เป็นอยู่ในทุกกิจวัตรประจำวัน
เมื่อมีโอกาสได้พูดคุยกับเขาเรื่องพื้นที่ในบ้านสำหรับเด็ก และวิธีคิดในการดูแลลูกตั้งแต่เด็กกระทั่งกำลังย่างเข้าวัยรุ่น เขาก็ยังคงมีคำตอบที่ย้ำให้เห็นว่า ชีวิตเป็นเรื่องง่าย โจน จันใด

งานเก็บเมล็ดพันธุ์
จากยโสธร โจน จันใด ย้ายมาปักหลักที่อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ เพราะต้องการทำงานเก็บเมล็ดพันธุ์พืชพื้นเมือง “อยากจะหาที่ปลูกผัก เพราะว่าเป้าหมายหลักของการมาอยู่ที่นี่คือการเก็บเมล็ดพันธุ์ ที่ยโสธรพอหน้าฝนน้ำท่วม หน้าแล้งไม่มีน้ำ เจาะบาดาลก็ได้น้ำเค็ม คิดว่าไม่เหมาะที่จะปลูกผัก คือมันปลูกได้เวลาสั้น แต่ถ้ามาทางเหนือนี่มันปลูกได้มากกว่า เลยตัดสินใจมาหาที่แถวนี้ มาเจอตรงนี้ ซึ่งไกลมาก แต่เป็นที่เดียวที่พอซื้อได้ ตอนมาแรกๆ ก็เร่งรีบที่จะสร้างกระต๊อบอยู่ก่อน เอาฟากไม้ไผ่มาตีเป็นผนัง แล้วเอาดินฉาบข้างใน หลังจากนั้นก็ค่อยๆ ปรับเปลี่ยนมาเรื่อยๆ ทำเป็นก้อนอิฐดินที่ถาวรขึ้น สบายขึ้นกว่าเดิม”

ครอบครัวใหญ่
บนผืนดินแม่แตง โจนไม่เพียงลงหลักปักฐานสร้างครอบครัวที่มีกันสามคนพ่อแม่ลูก (ภรรยา – เพ็กกี้ เรนต์ส และลูกชาย – ทาน จันใด) แต่ยังได้สร้างชุมชนพันพรรณควบคู่กันไปด้วย
“คำว่าครอบครัว เราไม่ได้คิดถึงเฉพาะครอบครัวเรา เราคิดถึงครอบครัวที่ใหญ่ขึ้นในลักษณะของชุมชนด้วย อันนี้คือเหตุผลหนึ่งที่เราตั้งเป็นชุมชนขึ้นมา เพื่อให้เด็กได้เรียนรู้การอยู่กับคนอื่น ไม่ใช่อยู่กับพ่อแม่อย่างเดียว เราเห็นว่าการอยู่ร่วมกับคนอื่นเป็นสิ่งที่สำคัญมากเพราะว่าเราไม่สามารถอยู่คนเดียวได้ แต่วิถีชีวิตของคนทั่วๆ ไป จะแยกตัวเองออกมา ซึ่งมันจะทำให้เกิดปัญหาเยอะ ทำให้เหงา ทำให้เศร้า อยู่กับคนยาก อยู่ในสังคมยาก
“ทีนี้เราก็เลยอยากให้มันเป็นชุมชนอะไรสักอย่างหนึ่ง ลูกจะได้เห็นความสัมพันธ์ว่าคนเรามันต้องเชื่อมต่อกัน ไม่ใช่อยู่คนเดียว การอยู่คนเดียวเป็นการโดดเดี่ยวตัวเองซึ่งมันไม่เป็นจริงในทางปฏิบัติ คนที่อยู่คนเดียวจะมีปัญหามาก แต่ถ้าอยู่กับหลายคนได้ปัญหาก็น้อยลง อยากให้ลูกเติบโตมากับผู้คนที่หลากหลาย ก็เลยพยายามทำให้เกิดเป็นชุมชนขึ้นมา ถึงตอนนี้เรามีเด็กอยู่ที่นี่ 5 คน กำลังจะคลอดอีก 2 คน เด็กค่อนข้างเยอะเลยทีเดียว
เราอยู่กันเป็นครอบครัวใหญ่ แต่ละคนมาจากทั่วสารทิศ หลายที่ หลายภาค หลายประเทศก็เลยมีความหลากหลาย ผมว่าโลกทุกวันนี้มันเปลี่ยนไปมาก การให้เด็กเห็นอะไรแคบๆ เป็นผลเสียต่อเด็กมากกว่า ถ้าเด็กได้เห็นวัฒนธรรมที่หลากหลาย เห็นคนที่หลากหลาย เห็นวิธีคิดที่หลากหลาย เขาจะคิดกว้างขึ้น พวกเราพยายามทำให้เกิดความหลากหลาย อย่างที่นี่เรามีเพื่อนเป็นเกย์ เป็นเลสเบี้ยน เป็นมุสลิม เป็นคริสเตียน เป็นพุทธ เป็นคนไม่มีศาสนา เป็นอะไรต่างๆที่หลากหลาย เพื่อให้เขาเห็นว่าความหลากหลายคือความมั่นคง ความหลากหลายคือความงดงาม ฉะนั้นวิธีคิดเขาจะไม่แคบ เปิดกว้างมากขึ้น”

บ้าน
เพราะแนวคิดของโจนเกี่ยวกับครอบครัวคือ พ่อแม่ลูกควรอยู่ด้วยกัน จึงทำให้บ้านนี้มีวิธีการเลี้ยงลูก และการจัดการศึกษาที่น่าสนใจ
“บ้าน หมายถึงครอบครัวมากกว่าที่จะเป็นอาคารสถานที่ ดังนั้นอาคารสิ่งก่อสร้างเป็นอะไรก็ได้ ไม่สำคัญเท่าไร แต่ว่าครอบครัวก็คือพ่อแม่ลูกเนี่ยควรจะอยู่ร่วมกัน ไม่ควรแยกกันนั่นคือสิ่งที่เรียกว่าบ้าน” จากประสบการณ์ที่เลี้ยงลูกชายมาจนอายุ 11 ปี และได้ช่วยกันดูแลเด็กๆ ในชุมชน เห็นการเติบโตของเด็กหลายคน ทำให้โจนมีความเชื่อว่าเด็กก่อนวัยรุ่นควรอยู่กับครอบครัว


“ผมคิดว่าเด็กอายุไม่เกิน 12-13 ปี ไม่ควรจะแยกขาดจากครอบครัว เขาต้องการครอบครัวเสมอ ตลอดเวลา แล้วก็จะเห็นว่าเด็กแต่ละช่วงมีการเปลี่ยนแปลงตลอด และทุกการเปลี่ยนแปลงเนี่ยระยะเวลามันสั้นมาก ผมว่าครอบครัวก็ต้องการเด็กด้วย ไม่ใช่ว่าเด็กต้องการครอบครัวอย่างเดียว การมีลูกคนหนึ่งเราได้เรียนรู้เยอะมาก มีลูกหมายถึงการมีครูที่ยิ่งใหญ่ เพราะลูกสอนเราเยอะมาก สอนในเรื่องของการอดทน สอนในเรื่องของการเปิดใจกว้างยอมรับฟังคนอื่น ซึ่งตรงนี้ผมว่าลูกให้มากกว่าที่ลูกรับไปจากเรา ผมรู้สึกอย่างนั้น มันเป็นการถ้อยทีถ้อยอาศัย หน้าที่ของเราก็คือการดูแลและสนับสนุนตามที่เขาต้องการ เราทำแค่นั้นเอง เราไม่ได้ทำอะไรมากไปกว่านั้น ช่วงนี้ผมว่าเด็กต้องการเราตลอดเวลา แต่พอเกิน 12 ปีไปแล้วเขาจะเริ่มไม่ต้องการเราแล้ว เริ่มเป็นตัวของตัวเอง
“ตอนนี้ลูกก็เริ่มอยากนอนคนเดียว ไม่อยากนอนกับพ่อแม่อีกแล้ว นอนคนเดียวไม่พอยังอยากไปนอนที่อื่นด้วย อยากไปทำนั่นทำนี่ที่เป็นอิสระมากขึ้น อยากเดินทางคนเดียวบ่อยขึ้น ไปแม่สอด ไปภูเก็ต ไปนั่นไปนี่ เขาก็ชอบไปคนเดียวมากขึ้น นานที่สุดที่ไม่ได้อยู่ด้วยกันคือตอน 9 ขวบเขาไปเล่นเรือใบที่สัตหีบ 2 อาทิตย์ กับเพื่อนๆ 4-5 คน เราก็ไปเช่าคอนโดฯ ให้เขาอยู่ ให้เขาหาอาหารเอง ไปเรียนเอง ถ้าเราฝึกให้เขาช่วยเหลือตัวเองเขาก็จะช่วยเหลือตัวเองได้ แต่ถ้าเราทำใจไม่ได้ เข้าไปดูแลทุกอย่าง เราก็ต้องดูแลเขาไปตลอดชีวิต”

แม้แนวคิดตะวันตกจะนิยมแยกห้องนอนลูกกับพ่อแม่ แต่โจนและเพ็กกี้ให้ลูกนอนห้องเดียวกันตั้งแต่เกิด
“เคยแยกห้องนอนอยู่ 2-3 เดือน ช่วงที่เขาอายุ 3 ขวบ แล้วพ่อแม่ก็ทนไม่ไหว ลูกทนได้แต่พ่อแม่ทนไม่ไหว ต้องกลับมานอนด้วยกัน เรารู้สึกว่ามันมีความจำเป็นอยู่ การอยู่ร่วมกันเป็นคุณค่า เป็นรางวัลชีวิตสำหรับพวกเราที่จะได้เพลิดเพลินกับลูก เพราะแต่ละช่วงเวลานี่มันเปลี่ยนไปตลอดเวลานะ ความน่ารัก ความน่าเอ็นดู มันไม่ได้มีอยู่ตลอดไป มันเป็นเรื่องที่เราต้องรีบตักตวงที่จะเรียนรู้ขณะนั้นว่าเขาต้องการเรา ทำให้เราเห็นการเติบโต ซึ่งมันเร็วมาก บางคนอาจรู้สึกว่ามันช้า แต่ผมเห็นว่าลูกเปลี่ยนทุกวัน” ตั้งแต่ลูกยังเล็ก ครอบครัวนี้ใช้เวลาอยู่ด้วยกันตลอด ทำให้ลูกได้เรียนรู้จากพ่อแม่โดยไม่ต้องสอนด้วยคำพูด “เราทำอะไรแทบทุกอย่างด้วยกัน ทำอาหาร ทำสวน ก่อสร้าง แต่ช่วงหลังๆที่ผมต้องเดินทางเยอะเขาก็จะอยู่กับแม่”
“เราไม่ต้องสอนลูกนะ สอนตัวเองมากกว่า อยากให้ลูกเป็นอย่างไรเราก็ต้องทำตัวอย่างนั้น เท่านั้นเอง ฉะนั้น เราจะไม่มานั่งสอนลูกว่าอันนี้ไม่ดีลูก อันนี้ดีกว่า อย่าทำอย่างนั้นนะ ไม่เคยพูดอย่างนี้เลย ถ้าเราไม่อยากให้ลูกโกหก เราก็ไม่โกหกลูก ถ้าเราไม่อยากให้ลูกใช้ความรุนแรง เราก็ไม่ใช้ความรุนแรงกับลูก คำพูดที่เป็นความรุนแรงเราก็พยายามหลีกเลี่ยงที่จะใช้มัน ใช้เหตุผลมากขึ้น ตรงนี้มันทำให้ลูกเติบโตไปตามที่เราต้องการ แต่ว่าถ้าเราสอนลูกแล้วเราไม่ทำ ลูกก็จะเป็นคนละเรื่อง อันนี้ก็คือสิ่งที่เราได้เรียนรู้มา มันง่ายดี ไม่ต้องเสียเวลาไปอบรมสั่งสอนเลย

“เติบโตตามที่เราต้องการสำหรับผมคือ ให้เขาเป็นตัวของตัวเอง เราไม่อยากจะไปแทรกแซงวิถีชีวิตของเขา นี่คือความต้องการของพ่อแม่ ก็คืออยากเห็นเขาเป็นตัวของตัวเอง ทุกวันนี้เขาก็โตไปในแนวทางนั้น เขาไม่อยากไปโรงเรียนก็ไม่ต้องไป เขาอยากจะไปเที่ยวที่นี่พ่อก็ส่งเสริมให้เขาไป อยากขี่จักรยานก็พาขี่ ทำในสิ่งที่เขาอยากทำ ผมว่าแค่นั้นเองที่เราควรจะทำกับลูก ไม่ควรจะมากไปกว่านั้น กติกาที่เคยมีในบ้านเราคือเล่นเกมทีละชั่วโมง นอกนั้นก็อิสระ มีเรื่องนี้เท่านั้นเอง”
“บ้านเป็นเบ้าหลอม บ้านนี่รวมถึงการทำตัวของเราด้วย ทั้งหมดเป็นเบ้าหลอมให้ลูกไปในแนวทางที่อยากเห็นเขาเป็น คือ เป็นตัวของตัวเองนั่นแหละ ซึ่งผมว่ามันมีผลมากทีเดียว ที่นี่เราอยู่กันหลายคน เราเคารพกันอย่างเท่าเทียม ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ ผู้หญิงหรือผู้ชาย เราให้ความเท่าเทียม
“ฉะนั้นเด็กๆ จึงเคารพคนอื่นมาก เราเห็นตรงนี้เราก็รู้สึกว่ามันน่าสนใจที่เขาเติบโตไปในแนวทางที่มีเหตุผล ก็ทำให้เห็นว่าชีวิตเขานี่สนุกมาก ไม่มีเรื่องงอแง หรือเรื่องดื้อซนอะไร มันง่ายดีนะ เราเลี้ยงมานี่เหมือนอยู่กับผู้ใหญ่ เราคุยกัน เรามองเห็นเขาเหมือนผู้ใหญ่คนหนึ่งที่อยู่กับเรา อย่างจะสร้างบ้านกันเขาก็ต้องมาคิดออกแบบว่าเขาต้องการอะไร คิดเอง ทำเอง เราก็พาเขาทำ ได้เลือกสี ได้ตกแต่งห้องเอง แต่ถ้าเขาต้องการอะไรที่เราให้ไม่ได้เราก็อธิบายให้เขาฟัง ทีนี้เขาจะเข้าใจง่าย ยอมรับง่ายมากโดยที่ไม่งอแง ผมว่ามันคุ้มมากเลย แล้วก็รู้สึกว่ามันสนุก ยิ่งอยู่ด้วยกันยิ่งสนุก”
ของเล่น
“ทานมีของเล่นไม่มากครับ ตอนเล็กๆ มีปลาตะเพียนสาน โตขึ้นมาหน่อยพอเดินได้ก็มีของเล่นพลาสติกบ้างแต่น้อย คือที่นี่มีคนเยอะครับ เล่นกับคนมันสนุกกว่าเล่นกับของเล่น อันนี้คือสิ่งที่ทำให้เรามีค่าใช้จ่ายเรื่องของเล่นน้อยมาก เท่าที่ผมจำได้ ซื้อของเล่นให้ลูกไม่เกิน 4-5 ครั้งเท่านั้นเองในชีวิต
“ตอนอายุ 3 ขวบเขาอยากได้รถพลาสติก เข้าไปในเมืองปุ๊บเขาบอกอยากไปร้านขายของเล่นเราก็พาไป เขาอยากได้คันใหญ่ๆ แต่เราอธิบายให้ฟังว่าอันใหญ่มันแพง แล้วก็ใช้ได้ไม่นานเพราะว่าของเล่นที่มีในบ้านเราเป็นของเล่นคุณภาพไม่ดีจากประเทศจีน มันจะมีสีมีเคมีค่อนข้างเยอะ เล่นได้แป๊บเดียวก็จะหลุดจะพัง กลายเป็นขยะที่เป็นปัญหาให้เราและคนอื่นด้วย เขาบอกเอาคันเล็กๆ ก็ได้ ซื้อคันละ 20 บาทมาเล่น เล่นแป๊บเดียวล้อหลุด หลังจากนั้นเขาก็ไม่เอาแล้ว
เลยทำให้เขาไม่ค่อยเล่นของเล่น เวลาอยู่ด้วยกันมันสนุกกว่า ถึงมีของเล่นแต่เขาก็เล่นกับของเล่นน้อยมาก ถ้าเด็กไม่เหงานี่เขาจะมีชีวิตชีวาอยู่กับคน ทำนั่นทำนี่ สนุกกว่าเล่นของเล่นเยอะ
“พอโตมา เขาอยากเล่นเลโก้ เราก็บอกว่าถ้าอยากได้ต้องหาเงินเองนะลูก พ่อไม่มีเงิน เขาก็หาเงินด้วยการไปที่ร้านกาแฟ บอกพ่อให้สอนทำขนม เราก็พาทำขนมถั่วกรอบแก้ว ตอนแรกให้เขาชั่งตวงวัดออกมาว่าเรายืมครัวมาเท่าไร ทำเป็นขนมแล้วต้องขายเท่าไรถึงจะได้เงินไปคืนครัว ขายเท่าไรถึงจะได้กำไรไปซื้อเลโก้ เขาก็คิดของเขาไป ซึ่งภายในสองวันเขาก็ขายแล้วได้เงินไปซื้อเลโก้เอง 300-400 บาท ทำให้เขาภูมิใจในตัวเองที่หาเงินเองได้ ทีนี้ถึงแม้เราอยากจะให้แต่เขาก็ไม่อยากเอาเพราะเขารู้ว่ามันไม่ใช่หยาดเหงื่อแรงงานของเขา
“ต่อมาอยากเล่นเกมมายคราฟ (Minecraft) ต้องซื้อเป็นพันเขาก็หาเงินเองแต่เล่นแค่พักเดียว เพราะว่าเราไม่เคยบังคับลูก ลูกก็เลยได้เป็นตัวของตัวเอง ได้ค้นหาตัวเอง ได้เห็นสิ่งที่ตัวเองอยากทำ ได้ทำสิ่งที่ตัวเองชอบ เด็กที่นี่ไม่ค่อยติดเกม เราให้เล่นทุกอย่างนะแต่เขาไม่ติด เรื่องของเล่นนี่ผมว่าเราให้เขาน้อยมาก แต่ว่าเขาก็ไม่ได้ต้องการ
“ผมว่าการที่ไม่ปล่อยให้ลูกเหงาหรือเซ็งกับชีวิตมาก เขาจะต้องการของเล่นน้อยมาก ฉะนั้นเราควรจะมีเพื่อนให้เขา หรือเป็นเพื่อนกับเขาให้มากขึ้น บางทีเราก็อ่านหนังสือนิทาน เขาจะนั่งฟังเป็นชั่วโมง พอโตขึ้นก็ชอบอ่านหนังสือ ถ้าเด็กอ่านหนังสือปุ๊บของเล่นจะมีความหมายน้อยลง เพราะว่าหนังสือมันจินตนาการได้มากกว่า
“เราโชคดีที่อ่านหนังสือกับเขาตั้งแต่เด็ก พออายุ 6-7 ปีเขาเริ่มอ่านได้ หลังจากนั้นก็ซื้อ Kindle ให้เขาอันหนึ่ง แล้วเขาก็ดาวน์โหลดหนังสือมาเยอะมาก อ่านหลายสิบเล่มต่อปีถ้าว่างปุ๊บเขาก็จะอ่าน”

พื้นที่ที่เหมาะสมสำหรับการเติบโต
“ผมว่ามันแล้วแต่เด็กว่าเขาชอบที่ไหน ถ้าเขาชอบอยู่ที่ไหนเราก็พยายามปรับตรงนั้นให้เหมาะกับความต้องการของเขา อย่างบางช่วงถ้าเขาชอบเล่นเลโก้อยู่บ้าน เราก็จัดห้องให้มีเลโก้อยู่ใกล้มือเขา บางช่วงเขาชอบวาดภาพ เราก็จัดให้มีกระดาษมีสีอยู่ใกล้ๆ เขาแต่บางช่วงที่เขาชอบไปข้างนอก เราก็ต้องมีจักรยาน

“แต่ละที่ที่เขาชอบเราต้องปรับไปเรื่อยตามความต้องการของเขา พูดง่ายๆ ตามไปส่งเสริมสนับสนุน ไม่ใช่การออกแบบตามวิธีคิดเรา แต่เราออกแบบเพื่อให้เอื้อกับเขาเป็นหลักมันเป็นวิธีที่พวกเราทำกันมา ก็รู้สึกว่าไม่ต้องคิดอะไรมาก แต่บางครั้งเขาก็อาจจะไม่นิ่งกับสิ่งที่เขาชอบ อาจจะชอบแป๊บเดียวแล้วก็เบื่อ เราไม่ควรไปตัดสินว่าทำไมเปลี่ยนบ่อย ทำไมหาอะไรไม่เจอ ต้องปล่อยให้เขาซ้ำไปเรื่อยๆ ก่อน เขากำลังค้นหาตัวเอง เขากำลังฝึกเรียนรู้ที่จะทำในสิ่งต่างๆ หลายอย่างเพื่อหาว่าเขาชอบอะไร ฉะนั้นบางอย่างเราอาจจะไม่ชอบแต่ก็ต้องช่วย
“อย่างทานอยากขี่จักรยานในเมือง ความรู้สึกของพ่อแม่ก็จะเป็นห่วงเรื่องความปลอดภัย แต่ว่าเราก็ต้องพาไป อธิบายให้เขารู้กฎจราจร วิธีคิดของคนขับรถ คนใช้ถนนคิดยังไง เขาจะไปยังไงถึงจะปลอดภัย หลังจากนั้นเขาก็ไปได้ ไม่มีปัญหา จากที่นี่เข้าเชียงใหม่ 60 กิโลเมตรก็ไปกลับได้ ขี่รอบเชียงใหม่ได้ เขาขี่จักรยานได้วันละ 50 กิโลเมตรตั้งแต่อายุ 5-6 ขวบเขาก็เลยมีความเชื่อมั่นในตัวเอง

“ผมว่าการสร้างความเชื่อมั่นให้เด็กเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด มันจะทำให้ทุกอย่างง่ายขึ้น แต่ถ้าเด็กไม่มีความเชื่อมั่นในตัวเองก็จะพึ่งพาพ่อแม่ตลอด วิธีที่เราจะให้เขาให้เชื่อมั่นในตัวเองได้คือเราให้อิสระกับเขา ให้เขาได้เป็นตัวของตัวเอง แต่ปัญหาคือคนส่วนมากมักคิดว่าเด็กยังเล็กอยู่ ไม่รู้อะไรมาก ต้องเข้าไปช่วยมากๆ ยิ่งช่วยมากเท่าไรเด็กก็จะยิ่งโตช้าเท่านั้น ถ้าเด็กอยู่กับพ่อแม่ที่เข้าไปแทรกแซงทุกอย่าง กินข้าวหรือยังลูก แปรงฟันหรือยังลูก บีบยาสีฟันให้ อาบน้ำให้ อันนี้คือการเข้าไปแทรกแทรงทำให้เด็กไม่ได้เรียนรู้ ไม่ได้เป็นตัวของตัวเอง เราต้องพยายามถามตัวเองอยู่เสมอว่าสิ่งที่เราทำนี่เป็นการแทรกแซงลูกไหม เราเห็นว่าเรื่องนี้สำคัญมาก”

ติดตามตอนที่ 2 (จบ) ได้ทาง บ้านที่ให้อิสระของ โจน จันใด ตอนที่ 2
เรื่อง ลัญชนา ศาสตร์หนู
ภาพ สิทธิศักดิ์ น้ำคำ