HOW TO ทำพื้นที่รอบบ้านให้เป็น Farm House

แม้หัวใจหลักในการปลูกผักทานเองคือการเลือกปลูกผักที่ชอบทานเป็นหลัก แต่ในบางครั้งก็ไม่ใช่เรื่องง่ายหากผักที่ชอบคือเป็นผักปลูกยาก หรือพื้นที่ที่มีไม่เหมาะจะปลูกผักชนิดนั้น จึงต้อง แบ่งพื้นที่ปลูกผัก ให้เหมาะกับผักที่ปลูกด้วย

แล้วการ แบ่งพื้นที่ปลูกผัก ต้องเป็นอย่างไร? สิ่งสำคัญของการออกแบบฟาร์มในบ้านคือการจัดสรรพื้นที่ให้เกิดความสะดวกต่อการใช้งาน สร้างความงามและความเหมาะสมทางสายตา สร้างความสัมพันธ์ของกิจกรรมต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นให้เยือมโยงต่อเนื่อง รวมถึงการสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะทั้งต่อการเติบโตของพืชผักและสัตว์ในฟาร์มที่เลี้ยง โดยมีเรื่อง แสงแดด เข้ามาเป็นปัจจัยสำคัญ

ตามธรรมชาติพืชผักส่วนใหญ่ที่นิยมปลูกเพื่อรับประทานนั้น ต้องการแสงแดดครึ่งถึงเต็มวัน จะมีเพียงบางชนิดที่ต้องการแสงรำไร แสงแดดจึงเป็นปัจจัยหลักที่สำคัญต่อการเติบโตของพืชผักซึ่งจะต้องสอดคล้องสัมพันธ์กับลักษณะของพื้นที่ทำสวนครัว

แบ่งพื้นที่ปลูกผัก

ลักษณะพื้นที่ปลูกสวนครัว โดยทั่วไปจะแบ่งออกเป็น 2 รูปแบบคือ

สวนครัวแบบตำแหน่งเดียว ซึ่งลักษณะนี้จะง่ายต่อการกำหนดตำแหน่ง อย่างหน้าบ้านดาดฟ้า ลานโล่ง ที่ได้รับแสงแดดเกือบตลอดทั้งวัน หากเลือกพื้นที่ปลูกลักษณะนี้จะกำหนดชนิดของพืชผักได้อย่างอิสระ

พื้นที่สวนครัวแบบกระจาย เนื่องด้วยข้อจำกัดเรื่องแสงแดดทำให้ตำแหน่งของสวนครัวถูกวางกระจายไว้ตามทิศต่าง ๆ ที่ได้รับแสงแดดเพียงพออย่างพื้นที่หน้าบ้านที่ได้รับแสงเต็มวันข้างบ้านที่ได้แสงครึ่งวัน และหลังบ้านได้รับแสงแดดน้อยกว่า พื้นที่ลักษณะนี้มักอยู่ในบริเวณของบ้านจัดสรรขนาดกลางทาวน์เฮ้าส์หลังมุม หรือบ้านในเมืองที่มีร่มเงาของอาคารมาบดบัง ก่อนทำสวนครัวจึงต้องสังเกตก่อนว่ามีแสงแดดตกกระทบแต่ละตำแหน่งรอบบ้านอย่างไรบ้าง เริ่มจากมุมหน้าบ้าน ข้างบ้านหลังบ้าน และแต่ละฤดูกาลทิศทางของแสงแดดจะเปลี่ยนไปเช่นใด เพื่อกำหนดตำแหน่งแปลงปลูกและชนิดของพืชผักให้ตรงตามแสง

แบ่งพื้นที่ปลูกผัก

มุมเพาะกล้า : พื้นที่มีแสงและกึ่งร่ม

ตำแหน่งของโซนเพาะกล้าควรอยู่ในพื้นที่ร่มมีแสง ส่วนใหญ่มักสร้างในโรงเรือนที่มีพลาสติกช่วยกระจายแสงแดดให้สม่ำเสมอ มีซาแรนพรางความร้อน และกางมุ้งป้องกันแมลงศัตรูพืช มุมเพาะกล้าต้องโปร่งโล่ง ไม่อบร้อน และมีพื้นที่จัดเก็บบางส่วนเพื่อจัดระเบียบวัสดุอุปกรณ์ที่ต้องใช้ อย่างเช่น ถาดเพาะกล้า ป้ายชื่อ เมล็ดพันธุ์ เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อความสะดวกในการใช้งานอาจจะจัดให้มีเก้าอี้สำหรับนั่งทำงานได้ด้วย

แบ่งพื้นที่ปลูกผัก

พื้นที่ปลูก : พื้นที่แสงเต็มวัน  

ในพื้นที่ปลูกผัก สิ่งสำคัญที่ควรคำนึงคือต้องเลือกปลูกผักให้เหมาะกับปริมาณแสง หากแปลงอยู่หน้าบ้านหรือหลังบ้านที่ไม่มีอาคารบัง ผักจะได้รับแสงแดดตลอดทั้งวัน (มากกว่า 6 ชั่วโมง) ปลูกได้ทั้งผักกินดอก กินผล และกินใบ เช่น ผักสลัด มะเขือเทศ มะนาว แตงกวา ข้าวโพด พริก มะเขือยาว มะเขือเปราะ ผักกินหัวและราก เช่น แครอต บีตรูต หัวไชเท้า เป็นต้น รวมทั้งดอกไม้กินได้

หากแปลงอยู่ด้านข้างบ้านที่ได้ร่มเงาของอาคาร ผักจะได้รับแดดเพียงครึ่งวัน (6-8 ชั่วโมง) สามารถปลูกผักกินใบ เช่น ผักสลัด กวางตุ้ง ผักบุ้ง คะน้า ผักกาด ผักโขม แต่หากพื้นที่ได้รับแสงน้อยกว่านั้นอาจเลือกปลูกผักที่ทนร่ม เช่น สะระแหน่ ผักชีฝรั่ง ผักเป็ดญี่ปุ่น อ่อมแซ่บ ช้าพลู ใบบัวบก ผักแพว กะเพรา โหระพา แมงลัก กุยช่าย ตะไคร้ ขิง กระชาย เป็นต้น

แบ่งพื้นที่ปลูกผัก

ข้อควรคำนึงในการทำแปลงผัก

-ตำแหน่งแปลงผัก ควรวางแปลงในแนวทิศเหนือ – ใต้ เพื่อให้ผักได้รับแสงแดดเท่ากันตลอดทั้งแปลง

-สัดส่วนของแปลงผัก ความกว้างของแปลงควรอยู่ในระยะที่มือเอื้อมมือถึงกลางแปลง ทั้งฝั่งซ้ายและขวา แปลงจึงควรกว้าง 80 – 120 เซนติเมตร ส่วนความยาวตามขนาดพื้นที่

-ความสูงของแปลงผัก แบ่งตามความลึกของรากผักที่ปลูก ผักที่มีระบบรากตื้น เช่น ผักสลัด ผักบุ้งจีน คะน้า กวางตุ้ง ฯลฯ ทำขอบแปลงสูงเพียง 15 – 20 เซนติเมตร ก็เพียงพอ แต่หากเป็นผักกินหัว อย่าง แครอต หัวไชเท้า ควรทำขอบแปลงสูงมากกว่า 30 เซนติเมตร ส่วนผักกินผล อย่าง เลมอน มะนาว ควรทำขอบแปลง สูง 45 เซนติเมตรขึ้นไป -ทางสัญจรภายในสวน หากแปลงผักสูง 10 – 20 เซนติเมตร ควรเว้นระยะห่างของทางเดินอย่างน้อย 30 – 50 เซนติเมตร หากแปลงปลูกมีความสูง 40 – 50 เซนติเมตร ซึ่งขอบแปลงออกแบบเป็นที่นั่งได้ ควรเว้นระยะทางเดิน 60 เซนติเมตร เพื่อให้เข้าถึงแต่ละจุดได้สะดวกและใช้งานได้อย่างทั่วถึง

มุมเก็บผลผลิต : พื้นที่ร่มและกึ่งร่ม

สำหรับบ้านทั่วไปที่เก็บผลผลิตเพื่อรับประทานในครัวเรือน หรือเหลือเผื่อจำหน่ายนิดหน่อย อาจหามุมพื้นที่ร่มที่ทำงานได้สะดวก มีอากาศถ่ายเทดี เช่นมุมระเบียง ศาลา พื้นที่จอดรถ วางโต๊ะเพื่อนั่งหรือยืนทำงานได้อย่างสะดวก หากมีมุมก็อกน้ำสำหรับล้างผลผลิตด้วยยิ่งดี และอีกมุมสำคัญคือพื้นที่คัดทิ้งสำหรับทิ้งเศษผักที่รับประทานไม่ได้ก่อนนำไปทำปุ๋ยหมักในลำดับต่อไป

มุมหมักปุ๋ย : พื้นที่ร่มและกึ่งร่ม

อีกหนึ่งส่วนที่ขาดไม่ได้คือ มุมทำปุ๋ยหมัก ส่วนใหญ่แล้วการทำเกษตรอินทรีย์จะหมักปุ๋ยเองด้วยวัสดุเหลือใช้ อย่าง ขยะอาหาร เศษใบไม้กิ่งไม้ หรือเลี้ยงปุ๋ยมูลไส้เดือน บ่อปุ๋ยหมักจึงควรอยู่ในตำแหน่งที่ใช้งานสะดวกตามประเภทของปุ๋ย เช่นบ่อปุ๋ยหมักจากเศษอาหารควรอยู่ไม่ห่างจากห้องครัวหรือส่วนซักล้างของบ้าน ให้จัดการเศษอาหารได้สะดวก ส่วนปุ๋ยหมักจากเศษใบไม้แห้งควรอยู่ใกล้กับบริเวณที่มีต้นไม้ที่มีใบร่วง เพื่อให้เก็บกองรวมกันได้รวดเร็ว และควรอยู่ไม่ห่างจากแปลงปลูกมากนัก หรือมีเส้นทางที่ง่ายต่อการขนย้ายเมื่อปุ๋ยพร้อมใช้งาน

มุมเก็บอุปกรณ์ : พื้นที่ร่มและกึ่งร่ม

ส่วนสำคัญสำหรับจัดระเบียบให้ฟาร์มในบ้านน่าใช้งาน หยิบใช้อุปกรณ์ต่าง ๆ ได้ง่าย ทั้งหมวก รองเท้าบูท กระถางภาชนะปลูก พลั่ว จอบ เสียม กรรไกรตัดแต่งกิ่ง บัวรดน้ำ ถังน้ำ ถังสเปรย์ปุ๋ยน้ำ ไปจนถึงวัสดุปลูกอื่น ๆ ทั้ง ดิน กาบมะพร้าว เศษใบไม้ ขวดปุ๋ยหมักน้ำ เป็นต้นมุมเก็บอุปกรณ์ทำได้ทั้งแบบเปิดโล่งและเป็นห้องปิดมิดชิด แต่สิ่งสำคัญคือควรอยู่ใต้ชายคาไม่โดนฝนและความชื้นมาก เพื่อให้อุปกรณ์ไม่เกิดสนิม การจัดเก็บอุปกรณ์ควรเป็นระเบียบและง่ายต่อการหยิบใช้ โดยอาจแบ่งหมวดหมู่การจัดเก็บตามขนาดของอุปกรณ์ เช่น ประเภทที่มีด้ามยาวอย่างเสียบ จอบคราด เก็บในกลุ่มเดียวกัน อุปกรณ์ขนาดเล็ก เช่น มีด กรรไกร ตัดกิ่ง ห้อยแขวนไว้ด้วยกัน กลุ่มภาชนะปลูก อาทิ กระถาง ถุงปลูก เข่งพลาสติก จัดเก็บในชั้นวาง ให้เป็นระเบียบ จะช่วยให้ง่ายต่อการจดจำ

มุมเลี้ยงสัตว์ : พื้นที่ร่มและกึ่งร่ม

สำหรับบ้านในเมือง หากพื้นที่ไม่เอื้ออำนวยให้เลี้ยงสัตว์ก็อาจตัดมุมนี้ออกไปได้ หรืออาจเลือกชนิดของสัตว์ที่สามารถเลี้ยงได้ในพื้นที่จำกัด อย่างไส้เดือน ไก่เป็ด ปลา กบ ซึ่งทำเลสำหรับมุมนี้ควรได้ร่มเงา อากาศถ่ายเทสะดวกโปร่งสบาย โดยให้คิดไว้เสมอว่า หากคนเข้าไปอยู่แล้วรู้สึกสบาย สัตว์เลี้ยงก็มักรู้สึกได้เช่นเดียวกับเรา โซนเลี้ยงสัตว์อาจจัดไว้ให้ห่างไกลจากมุมพักผ่อนและตัวบ้าน อยู่ในตำแหน่งใต้ลมเพื่อลดกลิ่นรบกวน ทั้งบ้านเราเองและเพื่อนบ้าน หรืออยู่ในโซนใกล้กับการทำปุ๋ย เพราะสามารถนำมูลสัตว์เหล่านี้ไปหมักเป็นปุ๋ยสำหรับพืชผักได้ด้วย

มุมพักผ่อน : พื้นที่ร่มและกึ่งร่ม

เป็นส่วนเติมเต็มภายในสวน ที่นอกจากจะเป็นมุมสำหรับชื่นชมความงามของพืชผักที่ปลูกแล้ว มุมพักผ่อนยังทำหน้าที่เป็นจุดหลบแดดระหว่างทำสวนได้ด้วย ตำแหน่งของมุมพักผ่อนควรเป็นมุมที่ได้ร่มเงาโดยเฉพาะในช่วงบ่ายของวัน ซึ่งเป็นช่วงที่แดดร้อนจัด จำเป็นต้องมีร่มเงาทั้งจากสิ่งก่อสร้าง หรือ ร่มเงาต้นไม้ อากาศปลอดโปร่งเย็นสบาย ปราศจากกลิ่นของมูลสัตว์รบกวน อีกทั้งหากเป็นมุมที่สามารถมองเห็นสวนในมุมกว้างได้ด้วยก็ยิ่งดี เพื่อชื่นชมฝีมือการปลูกผักได้ในทุกจุด

ทั้งนี้ บางกิจกรรมสามารถรวมพื้นที่กันได้ เช่น มุมเพาะกล้ากับมุมเก็บผลผลิต มุมเพาะกล้ากับมุมพักผ่อน มุมเก็บอุปกรณ์กับบ่อปุ๋ยหมัก โดยยึดความสะดวกในการใช้งานและขนาดพื้นที่ ทิศทางของแสงแดดเป็นหลัก

ตามหาไอเดียและวิธีปลูกผักรอบบ้านได้จากหนังสือ FarmHouse สวนเกษตรในบ้าน

เรื่อง : JOMM YB

ภาพ : คลังภาพบ้านและสวน

จากแปลงผักก่อนนอนสู่สวนครัวข้างบ้านของสไตลิสต์และกราฟิกดีไซเนอร์

สวนสิริน แปลงผักเช่าปลูก พื้นที่เล่นกับลูกและ ปลูกดอกไม้กินได้